"จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี" ช่อง ไทยพีบีเอส เป็นละครแนวย้อนประวัติศาสตร์ช่วงหลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 นอกจากเรื่องราวความรักของพระ-นางในเรื่องแล้ว สิ่งที่สังเกตได้ชัดจากละครเรื่องนี้ คือความวิจิตรงดงามของนาฏศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นการร่ายรำตามแบบไทย หรือ เมียนมา ที่ผู้สร้างตั้งใจให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในอดีต ว่าแท้จริงแล้ว เราไม่ใช่ศัตรูตามมายาคติ “พม่าเผากรุงศรีอยุธยา” แต่เป็นเพื่อนบ้านที่ร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมทางสุนทรียะอันทรงคุณค่า ให้คงอยู่อย่างสง่างามมาถึงปัจจุบัน
เมื่อนุชนาฎพบเข้ากับหนังสืออิเหนาภาษาเมียนมาในร้านขายหนังสือเก่า จุดนี้เองทำให้เธอรู้ว่า นี่คือร่องรอยการมีอยู่ของ "ชาวโยเดีย" หรือ "โยดะยา" กลุ่มคนกรุงศรีอยุธยาที่พลัดถิ่นฐานมาอาศัยในเมียนมา หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2
เราเชื่อว่า “อิเหนา” เป็นวรรณคดีไทยที่ใครหลายคนเคยผ่านหูผ่านตาในสมัยเรียน แม้จะเป็นบทร้อยกรองเกินความเข้าใจในวัยเด็ก แต่ด้วยจังหวะจะโคนและคำสัมผัสช่วยให้เรารับรู้ถึงความวิจิตรได้โดยไม่ต้องพยายาม
“แล้วว่าอนิจจาความรัก
พึ่งประจักษ์ดั่งสายน้ำไหล
ตั้งแต่จะไหลเชี่ยวเป็นเกลียวไป
ที่ไหนเลยจะไหลคืนมา"
- วรรคทอง จากเรื่องอิเหนา ในศึกมนังกุหนิง
นอกจากอิเหนาในภาษาไทยที่เรารู้จักแล้ว อิเหนายังโด่งในประเทศเมียนมา ในฐานะบทละคร “อิเหนาโยเดีย” หรือ “อิเหนาฉบับอยุธยา” อ้างอิงจาก มิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการอิสระชาวเมียนมา ที่ค้นพบว่าในพระราชพงศาวดารมหาราชวงศ์กุงบองเซก ว่าด้วยบทวรรณกรรมที่ใช้แสดงในราชสำนักพระราชวังมัณฑะเลย์ มีการกล่าวถึงพระนามของเจ้าฟ้าหญิงกุณฑล และ เจ้าฟ้ามงกุฎ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและเจ้าฟ้าสังวาลว่า ทรงพระนิพนธ์บทละคร อิเหนาเล็ก และอิเหนาใหญ่
หลังจากการกวาดต้อนหลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ในบรรดาข้าราชบริพาร รวมถึงเหล่าราชวงศ์ ได้แก่ เจ้าฟ้าหญิงกุณฑล (นำแสดงโดย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล) และเจ้าฟ้าหญิงมงกุฎ (นำแสดงโดย ดวงใจ หิรัญศรี) ได้เสด็จประทับ ณ กรุงอังวะ ซึ่งทั้งสองพระองค์ได้ทรงนำบทพระราชนิพนธ์อิเหนามาด้วย และได้ขับร้องทำการแสดงภายในราชสำนัก กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่นาฏศิลป์ไทยในเมียนมานับตั้งแต่นั้นมา
22 ปี คือระยะเวลาที่อิเหนาแสดงเป็นฉบับภาษาไทยมาตลอด จนเวลาล่วงเลยเข้าปี พ.ศ. 2323 พระเจ้าปดุงทรงรับสั่งให้แปลบทละครอิเหนาเป็นภาษาเมียนมา โดยมีศิลปินใหญ่ชาวเมียนมา 7 ท่าน รวมถึง เมียวดี มินจี อูสะ (นำแสดงโดย เดาง์) จึงเข้ามามีบทบาทในการเขียนและเรียบเรียงอิเหนาในเวอร์ชันภาษาเมียนมาที่สวยงาม จนบทละครได้รับการยกย่องในนาฏศิลป์เมียนมาจนถึงทุกวันนี้
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ฉากการฟ้อนรำเพียงลำพังอยู่ในป่าของปิ่น โดยมีเสียงเพลงประกอบอยู่เบื้องหลัง แม้จะออกมาสั้น ๆ แต่ทำ ให้เรารู้ทันทีว่า นี่คือบทเพลงฉุยฉาย จากคำร้องที่ว่า “เอย ฉุยฉาย…” ซึ่งเป็นบทเพลงที่มีความเกี่ยวข้องระหว่างชาวโยเดีย และชาวเมียนมา
ในคัมภีร์ “มหาคีตา” แหล่งรวบรวมบทเพลงเมียนมาเดิม ที่ผู้เรียนนาฎศิลป์จะไม่รู้ไม่ได้ มีบทเพลงในหมวดหนึ่ง สะกดด้วยภาษาพม่า แต่ไร้ความหมาย ซึ่งในบรรดาบทเพลงทั้งหมด มีเพลงคำร้องขึ้นต้นว่า "เอ...ชูเหย่ไช่" ใกล้เคียงกับคำว่า "เอย..ฉุยฉาย" ในภาษาไทยอย่างมาก บทเพลงดังกล่าวถูกถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่นในนาฏศิลป์เมียนมา โดยแทบไม่มีใครล่วงรู้เบื้องหลังบทเพลงเหล่านี้มาจากไหน? ภาษาอะไร?
จนในปี พ.ศ. 2498 นาย อู นุ นายกรัฐมนตรีคนแรกของเมียนมา ตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปของบทเพลงนี้ขึ้นหลังจากได้รับฟังไปแล้ว ก็มีผู้ออกความเห็นว่าแม้จะเป็นเครื่องดนตรีแบบเมียนมา แต่ท่วงทำนองและจังหวะคล้ายนาฏศิลป์ไทยอย่างมาก จึงเกิดการค้นหาที่มาที่ไปอย่างจริงจัง จนสืบทราบว่านี่คือ “บทเพลงของชาวโยเดีย” ที่ตกทอดมาตั้งมาอาศัยอยู่ที่กรุงอังวะนั่นเอง
ตามหลักฐานที่มีการบันทึกไว้ ระบุว่า นอกจากเหล่าราชวงศ์ไทยที่ประทับอยู่ในอังวะแล้ว ยังรวมไปถึง ข้าราชการ และศิลปินสาขาต่าง ๆ เช่น นักดนตรี ผู้ชำนาญการแสดง ช่างไม้ ช่างแกะสลัก และเมื่อไหร่ที่มีงานมหรสพในกรุงอังวะ ศิลปินชาวโยเดียจะมีโอกาสแสดงบทเพลงและละคร รวมถึงเพลงฉุยฉายที่บรรเลงในราชสำนักเสมอ
อ้างอิงจาก วารสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 มีเรื่องเล่าขานถึงบทเพลงฉุยฉายว่า มีแม่นมชาวอยุธยาคนหนึ่งกำลังฮัมเพลงกล่อมเด็กทารก จับใจความได้ว่า “เอยฉุยฉาย…” ในขณะนั้นเอง เสนาบดีชาวเมียนมาท่านหนึ่งบังเอิญได้ยินเข้าจึงเอ่ยถามถึงที่มาของบทเพลงนี้ จนได้คำตอบว่านี่เป็นเพลงชื่อว่าฉุยฉาย ดังนั้นเสนาบดีจึงได้กราบทูลต่อเจ้านายเชื้อพระราชวงศ์ และทรงมีพระราชโองการดํารัสให้ทำการแสดงถวายในพระราชสํานัก
ในวงการนาฏศิลป์ไทย "การรำฉุยฉาย" ถือเป็นการแสดงไว้อวดฝีไม้ลายมือของผู้รำเลยก็ว่าได้ การรำฉุยฉาย ถือเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของไทยที่เห็นได้จากการแสดงโขน มีหลายชุดแตกต่างกันไป ทั้งแบบรำคู่และรำเดี่ยว ส่วนใหญ่เนื้อเรื่องอิงจากวรรณคดี เรื่อง รามเกียรติ์
หัวใจของรำฉุยฉาย คือการถ่ายทอดความรู้สึกภูมิใจในความงาม หรือความสามารถแปลงกายได้อย่างสวยงาม ผู้ที่มาแสดงรำฉุยฉายจึงต้องฝึกฝนจนรำได้ทุกท่วงท่า และสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นเพลงแม่บท เพลงช้าหรือเร็ว ต้องเข้าจังหวะเป๊ะ ๆ ตลอดการเคลื่อนไหวของทุกส่วนร่างกาย ตั้งแต่การตั้งวงจีบมือ จรดการหักปลายเท้า การเผยอจมูกเท้าให้งามตามแบบฉบับการร่ายรำไทย ซึ่งนอกจากรำเก่งแล้ว อินเนอร์ก็ต้องได้ เพราะผู้รำต้องใส่อารมณ์ตามคำร้องตามแบบแผนการแสดง หากแต่งเป็นผู้ชายจะขาดความกรุ้มกริ่ม แพรวพราวไม่ได้ ถ้าแต่งเป็นหญิงก็ควรมีจริตหญิงสาว ท่าทางชดช้อย
ในอดีตการแสดงฉุยฉายไม่ได้คำนึงความสวยงามเท่าปัจจุบัน เน้นแต่งตัวง่าย ๆ สุภาพเรียบร้อย แต่ภายหลังพัฒนาให้สวยงามตระการตา ด้วยการแต่งองค์ทรงเครื่องมากขึ้น เช่น ฉุยฉายเบญจกาย จะแต่งกายยืนเครื่องแบบตัวนาง หรือ ฉุยฉายศูรปนขา จะแต่งตัวยืนเครื่องตัวนาง ห่มสไบสองชาย สวมกระบังหน้า
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ในฉากปกรณ์และนุชนาฎได้ไปเยือนเมืองพยาปง และบังเอิญเห็นการแสดงโขนละครของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในนาฏศิลป์ไทย ที่ได้เผยแพร่ในประเทศเมียนมา
โขน จัดป็นนาฎกรรมชั้นสูงของไทย คาดว่าสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นการแสดงท่าร่ายรำเข้ากับเสียงดนตรีพื้นบ้านและเสียงพากษ์ตามเรื่องราวในวรรณคดีรามเกียรติ์ ที่บ้านเรารับอิทธิพลมาจากรามายณะของอินเดียอีกที ลีลาการรำอ่อนช้อยผสมกับท่าการต่อสู้สุดโลดโผน เกิดจากการรวมกันของ การเล่นหนังใหญ่ ชักนาคดึกดำบรรพ์ และรำกระบี่กระบอง พร้อมกับมีการสวมเครื่องศีรษะ เรียกว่า “หัวโขน” ที่เรามักเห็นเป็นรูปร่าง ลิง ยักษ์ กวาง เทวดา เป็นต้น
หลังจากนาฏศิลป์ไทยได้เผยแพร่ในกรุงอังวะโดยชาวโยเดีย รวมถึงโขนละคร ในปี 1240 ปราชญ์จากราชสำนัก นำโดย ยะตะนาป่ง อู หม่อง จี, มเย ไว สยา มน, ยะตะนาป่ง เนปยีดอม่ะ อะตวินโอ อู ชเว ปเย ได้ตั้งรกรากที่เมืองพยาปง และนำการรำ การร้อง การสวมหัวโขน และวรรณคดีรามเกียรติ์ เข้ามาเผยแพร่โขนละครและก่อตั้งคณะโขน ภายหลังมีการประยุกต์บางส่วนให้เข้ากับดนตรีเมียนมาเดิม แต่คงลีลาการร่ายรำ ท่วงท่าการจีบมือแบบโขนหลวงไว้เกิดเป็น ยามะซะตอ (Yama zatdaw) หรือ รามเกียรติ์ฉบับเมียนมานั่นเอง
เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
นอกจากละครจะสนุกเข้มข้นแล้ว ยังเต็มไปด้วยความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ จนเราอยากให้ทุกคนติดตาม สามารถรับชมละคร เรื่อง "เจ้าพระยาสู่อิรวดี" ได้ทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 20.15 - 21.10 น. ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 หรือ เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน VIPA
ติดตามรายการสารคดี โยเดียที่คิด(ไม่)ถึง เรื่องราวของชาวโยเดีย กลุ่มคนไทยในอดีตที่ถูกกวาดต้อนไปเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 และมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ได้ที่เว็บไซต์และแอปพลิเคชัน VIPA
ที่มา: โยเดียที่คิด(ไม่)ถึง , มิกกี้ ฮาร์ท , วารสารไทยคดีศึกษา , กรมศิลปากร