ด้วยการแพร่ระบาดรอบใหม่ อาจทำให้หนุ่มสาวออฟฟิศต้องกลับมา Work from home กันอีกครั้ง หนีไม่พ้นปัญหาเดิม ๆ อย่างความรู้สึกเบื่อหน่าย หมดไฟ หรือภาวะซึมเศร้า ที่ส่งผลกระทบไปถึงประสิทธิภาพการทำงาน ALTV จึงขอพาผู้อ่าน มาหาทางง่าย ๆ ด้วย “แสงแดด” อีกด้านที่ไม่ได้เป็นศัตรู แต่เป็นผู้ช่วยใกล้ตัวที่ทำให้เรากลับมาเป็นคนโปรดักทีฟได้อีกครั้ง !
"แสงแดด" พลังงานสำคัญที่คอยเลี้ยงดูทุกชีวิตบนโลก ตั้งแต่ให้ความอบอุ่น ไปจนถึงประคับประคองจิตใจของคนเราให้สมดุล แสงแดดที่พอเหมาะพอดี สามารถช่วยให้ผู้คนรักษาระดับวิตามินดีในร่างกาย และเกี่ยวข้องกับระดับอารมณ์จิตใจของเราในแต่ละวัน
ไม่ว่าใครก็คงอยากเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความสดชื่นแจ่มใสกันทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเช้าของวันทำงาน เพียงแค่แบ่งเวลาตอนเช้าประมาณ 10-30 นาที ออกมารับแสงแดดสักหน่อย ก็ช่วยให้สมองของเราปลอดโปร่ง อารมณ์แจ่มใสพร้อมลุยงานได้เต็มที่!
นักวิทยาศาสตร์พบว่า แสงแดดส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสารแห่งความสุข ที่เราคุ้นเคยกันดี ในชื่อ “สารเซโรโทนิน” ที่ส่งผลต่อร่างกายหลายด้าน สำคัญที่สุดคือ ช่วยปรับระดับอารมณ์ความรู้สึกของเราให้เป็นไปในทางบวก ไม่ว่าเราจะสุข ทุกข์ สงบ หรือมีสมาธิ ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารเซโรโทนินที่หลั่งออกมา โดยแสงแดดเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้สมองมีการหลั่งเซโรโทนินมากขึ้น เป็นเหตุผลว่าทำไมอัตราผู้คนฆ่าตัวตายในบางประเทศ ถึงสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว เพราะการได้รับแสงแดดน้อยลง ย่อมทำให้ผลิตเซโรโทนินน้อยลงไปด้วย ส่งผลให้มีผู้คนซึมเศร้าและวิตกกังวลมากขึ้น เป็นต้นตอสภาวะต่าง ๆ ทางอารมณ์ เช่น ความผิดปกติทางอารมณ์ตามฤดูกาล (SAD)
ปัญหานอนไม่หลับ หรือ Insomnia เป็นสิ่งที่ใครหลายคนเผชิญ และมันได้สร้างผลกระทบกับชีวิตเราในหลายด้าน โดยเฉพาะประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง หลายคนอาจทราบกันดีอยู่แล้วว่าการพยายามทำงาน ในขณะที่ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจสร้างหายนะให้กับการงานของเราเลยก็เป็นได้ เพราะเมื่อร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นระยะเวลานาน เซลล์ประสาทในสมองจะทำงานหนักขึ้น การคิดวิเคราะห์แย่ลง หลงลืมง่าย ปฏิกิริยาทางร่างกายช้าลง รู้สึกหงุดหงิดง่าย
แต่ปัญหาดังกล่าวสามารถดีขึ้นได้ ด้วยการออกไปพบเจอแสงแดดบ้างเนื่องจากในร่างกายของเราล้วนมีนาฬิกาประจำตัว เรียกว่า "นาฬิกาชีวภาพ (Circadian rhythm)" ที่ส่วนหนึ่งควบคุมด้วยฮอร์โมนเมลาโทนิน ทำหน้าที่คอยกำหนดพฤติกรรมของเราตามเวลาของวัน เช่น เวลาหลับ ตื่น หรือรับประทานอาหาร โดยคนเราถูกตั้งโปรแกรมให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในขณะที่ดวงอาทิตย์ขึ้น และเข้านอนในเวลาพระอาทิตย์ตก โดยเมลาโทนินจะผลิตในช่วงกลางคืนเท่านั้น ทำให้เรารู้สึกง่วง อยากนอนขึ้นมา
แสงแดด เป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญ ที่อยู่เบื้องหลังนาฬิกานี้ มีผลงานวิจัยยืนยันแล้วว่าการได้รับแสงแดดเป็นประจำ คือการฝึกสมองของคุณให้นอนหลับเมื่ออยู่ในที่มืด และช่วยให้การผลิตเมลาโทนินในตอนกลางคืนเกิดขึ้นเร็ว และเข้าสู่การนอนหลับได้ง่ายขึ้นในเวลากลางคืน
เป็นเหมือนกันไหม? ทำงานที่บ้านแล้วหัวไม่แล่น ไอเดียไม่เกิด? ลองเปลี่ยนที่นั่งทำงานในที่มีแสงแดดอ่อน ๆ ใกล้ชิดธรรมชาติอาจช่วยได้ ผลงานวิจัยหนึ่งชี้ให้เห็นว่าการใช้เวลาในสภาพแวดล้อมที่แสงแดดส่องถึง มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของคนเรา โดยเขาทดสอบกับนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้ทำศิลปะการตัดแปะ (Collage) โดยแบ่งนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจะได้อยู่ในห้องที่แสงแดดส่องถึง ภายในตกแต่งด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ไม้ กลุ่มหลังถูกจัดให้อยู่ในห้องปิดทึบ มีเพียงแสงสว่างจากแสงประดิษฐ์ ผนังห้องส่วนใหญ่ตกแต่งด้วยพลาสติก โดยผลจากการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญอิสระ 6 คน พบว่า กลุ่มนักเรียนที่อยู่ในห้องที่แสงแดดส่องถึง และใกล้ชิดกับธรรมชาติ สามารถออกแบบลวดลายได้ล้ำสมัยมากกว่า กลุ่มนักเรียนที่อยู่ในห้องที่เพียงแสงประดิษฐ์
เมื่อร่างกายพร้อม ใจพร้อม ก็ย่อมมีพละกำลังในการพิชิตโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ให้ลุล่วง แสงแดดในช่วงเวลาที่เหมาะสมไม่ใช่ศัตรูทำลายผิว แต่เป็นแหล่งวิตามินดีที่ร่างกายต้องการ โดยแสงแดดเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การทำงานของร่างกายเป็นไปอย่างปกติ เข้าไปช่วยให้การทำงานของเม็ดเลือดขาวดียิ่งขึ้น เมื่อร่างกายผลิตเม็ดเลือดขาวที่เป็นเหมือนทหารในร่างกาย คอยสร้างภูมิต้านทานและป้องกันโรค ภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะดีขึ้น ลดอาการเจ็บป่วยลงได้เยอะ เพราะร่างกายสามารถกำจัดเชื้อโรค่ได้ดีนั่นเอง
ตามที่ Adam Friedman ศาสตราจารย์ คณะแพทยศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน กล่าวไว้ การคำนวนเวลามาตรฐานการรับแสงแดดต่อวันออกมาเป๊ะ ๆ ยังถือเป็นเรื่องยาก สำหรับคนจำนวนมากการตากแสงแดดเพียง 10 - 15 นาทีต่อวันก็เพียงพอแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ระยะเวลาจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สีผิว ความสูงจากระดับน้ำทะเล ความใกล้ชิดกับเส้นศูนย์สูตร เป็นต้น
คนที่มีผิวคล้ำ จะมีเม็ดสีเมลานินมากกว่าคนที่มีผิวขาว เป็นกลไกลทางร่างกายที่ช่วยปกป้องผิวจากการทำร้ายจากแสงแดด หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นสารกันแดดตามธรรมชาตินั่นเอง เพราะฉะนั้นคนมีสีผิวคล้ำจึงมีแนวโน้มต้องใช้เวลากลางแดดนานกว่าคนผิวขาว เพื่อได้รับวิตามินดีในปริมาณที่เท่ากัน นอกจากนี้เขายังคาดการณ์ว่าอาจต้องใช้เวลา 30 นาที กว่าจะได้รับวิตามินดีที่เพียงพอเมื่อเทียบกับคนผิวขาว
การได้รับแสงแดดเป็นประจำ 10-30 นาที เป็นวิธีธรรมชาติที่สุดที่ในการรับวิตามินดี แต่การได้รับแสงแดดมากเกินไปก็อาจทำลายสุขภาพได้เช่นเดียวกัน โดยคนเราไม่ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดนาน โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00 - 16.00 รังสี UV แรงเป็นพิเศษ และนี่คือสัญญาณเตือนว่าแสงแดดเริ่มไม่เป็นมิตรกับคุณแล้ว
เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับความรู้ดี ๆ จากแสงแดดที่เรานำมาฝากกัน หากใครอยากรู้เกร็ดความรู้สนุก ๆ เพิ่มเติมอย่าง ประเทศที่ต้องเจอแสงแดด 24 ชั่วโมง เขาอยู่กันอย่างไร? สามารถรับชมเพิ่มเติมต่อได้ที่ เว็บไซต์ ALTV รายการ สังคมสนุกคิด ตอน ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่ตกดิน