ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
9 สตรีสุดสตรอง บนโลกที่ไม่เท่าเทียม
แชร์
ฟัง
ชอบ
9 สตรีสุดสตรอง บนโลกที่ไม่เท่าเทียม
08 มี.ค. 65 • 06.00 น. | 1,314 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

"ผู้หญิง"ที่เกิดในยุคนี้สามารถทำอะไรได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น การทำงาน การใช้ชีวิต การเลือกคู่ครอง ซึ่งเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่กว่าที่เราจะได้สิทธินั้นมา ผู้หญิงต้องผ่านการต่อสู้อย่างหนักหน่วง เพื่อพิสูจน์คุณค่าของตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

 

วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล International Women's Day (IWD) วันแห่งการรำลึกและแสดงพลังของผู้หญิงทั่วโลกโดยแท้จริง ทุกคนต่างร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิงทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง แต่ละปีก็มีกิจกรรมที่น่าสนใจแตกต่างกันไป

3 สัญลักษณ์แทนวันสตรีสากล

  • สัญลักษณ์เทพวีนัส หมายถึงเพศหญิง
  • ดอกมิโมซ่าสีเหลือง เป็นดอกไม้ที่แทนความอ่อนโยนและความแข็งแกร่งของผู้หญิงในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่ว่าดอกไม้ชนิดนี้สามารถเติบโตในฤดูหนาวได้ระดับติดลบ และยังผลิดอกในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นเดือนแห่งวันสตรีสากล
  • 💜💚🤍 สีม่วง สีเขียว และสีขาว คือสีประจำวันสตรีสากลด้วยความหมายที่ลึกซึ้ง สีม่วงหมายถึง ความยุติธรรมและศักดิ์ศรี, สีเขียว หมายถึง ความหวังและสีขาว หมายถึง ความบริสุทธิ์

ในวาระแห่งวันสตรีสากล เราจึงรวบรวม “สตรีตัวแม่” จากหลากหลายมิติเพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้หญิงที่ต่อสู้บนโลกที่ไม่เท่าเทียม

 

อำแดงเหมือน

สตรีไทยคนแรกที่กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์ในความรัก

"ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน" เป็นคำกล่าวที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางเพศในอดีต ท่ามกลางจารีตประเพณีที่ผู้หญิงไม่มีสิทธิ์ได้เลือกคู่ครองของตัวเอง ในสมัยก่อนพ่อแม่มักจะบังคับให้ลูกสาวแต่งงานเพื่อใช้หนี้ที่เรียกว่า "คลุมถุงชน" อำแดงเหมือน หรือนางเหมือน สตรีนางไทยคนแรกที่ลุกขึ้นสู้เพื่อทวงสิทธิสตรีของตัวเอง คัดค้านการแต่งงานแบบคลุมถุงชนที่ถูกบังคับให้แต่งงานกับชายที่ไม่ได้รัก การต่อสู้ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อ จ.ศ.1227 (พ.ศ. 2408) เมื่อพ่อของอำแดงเหมือนต้องการยกลูกสาวให้เป็นภรรยาน้อยของนายภู แต่อำแดงเหมือนมีนายริดเป็นคนรักอยู่แล้ว จึงทำทุกวิถีทางเพื่อหลบหนีการแต่งงาน

 

อำแดงเหมือนหนีมาพร้อมกับนายริดเพื่อไปตีกลองพร้อมถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามคำร้องบางช่วงบางตอนของอำแดงเหมือนที่ปรากฎในประกาศพระราชบัญญัติลักภา ว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งได้หนีมาทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวาย พระราชอาญาเปนล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าสมัครเปนภรรยานายริด ชู้เดิมของข้าพระพุทธเจ้าต่อไป ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เปนที่พึ่ง ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ…" - อำแดงเหมือน

 

หลังจากพิจารณาคำร้องแล้วรัชกาลที่ ๔ ทรงเห็นว่าอำแดงเหมือนอายุ 20 ปีเศษแล้ว สมควรได้แต่งงานกับคนที่รักตามความสมัครใจ จึงส่งเจ้าหน้าที่ไปจัดการและสั่งให้พ่อแม่ชดใช้ค่าสินสอดเพื่อให้เธอแต่งงานกับชายที่เธอรักอย่างแท้จริง ต่อมาทรงเล็งเห็นสถานะของหญิงไทยจึงยกเลิกกฏหมายเก่า ที่ว่า"หญิงหย่าชายหย่าได้" ยินยอมให้ผู้หญิงเลือกสามีและกำหนดชีวิตของตัวเอง 

 

"หญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเสศแล้ว ควรจะเลือกหาผัว ตามใจชอบของตนเองได้"
"บิดามารดา ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้หญิง ดังหนึ่งคน เป็นเจ้าของโค กระบือ ช้าง ม้า ที่ตนจะตั้งราคาขายโดยชอบได้ เมื่อบิดามารดายากจนจะขายบุตรได้ก็ต่อบุตรยอมให้ขาย ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ ฤๅยอมให้ขายถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงไร ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไร ผิดไปจากนี้อย่าเอา" - พระบรมราชโองการในรัชกาลที่ ๔ ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๘

 

เรื่องราวของ “อำแดงเหมือน” ถูกนำมาดัดแปลงให้ได้ชมทั้งภาพยนตร์ (ปี 2537) และละคร (ปี 2017) โดยใช้ชื่อเรื่อง "อำแดงเหมือนกับนายริด" ในส่วนของละครสามารถย้อนรำลึกเรื่องราวแห่งการต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรี ความรัก และความเป็นธรรมของอำแดงเหมือน ได้บน VIPA

อำแดง เป็นคำเรียกนำหน้าชื่อผู้หญิงในสมัยโบราณ ก่อนที่จะมีคำ นาง หรือ นางสาว

หลี่ ถิงถิง

สตรีนักเคลื่อนไหวยุคใหม่เพื่อสิทธิของผู้หญิงชาวจีน

หลี่ ถิงถิง (Li Tingting) นักเคลื่อนไหวยุคใหม่เพื่อสิทธิสตรีชาวจีนที่ออกมาเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของ LGBTQ ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำทางเพศในประเทศจีนที่นับวันจะแพร่หลายเป็นวงกว้าง แต่ละความเคลื่อนไหวของถิงถิงต่างได้รับการสนับสนุนจากคนในประเทศและต่างชาติ ในประเทศที่มักเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ อย่างไม่เป็นธรรม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าผู้หญิงไม่เท่าเทียมกันในการแต่งงานและอยู่ต่อหน้ากฎหมาย และมีบทบาทน้อยในห้องประชุมคณะกรรมการและการเมือง

 

ปี 2012 ถิงถิงสวมชุดแต่งงานเปื้อนเลือดเดินไปทั่วถนนในจีน เพื่อต่อต้านการใช้ความความรุนแรงในครอบครัว จนกระทั่งปี 2015 ถิงถิงและเพื่อนนักเคลื่อนไหวอีก 4 คน ที่รู้จักกันในนาม 'Feminist Five' ถูกตำรวจควบคุมตัวมาสอบสวน เนื่องจากร่วมวางแผนแจกจ่ายสติกเกอร์ที่ป้ายรถเมล์ เพื่อรณรงค์เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศบนระบบขนส่งสาธารณะ ในโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม ถิงถิงโดนขึ้นบัญชีดำและถูกตัดสิทธิ์การออกสื่อในจีน การจับกุมครั้งนี้ทำให้นานาชาติ กลุ่มสิทธิสตรี ผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งฮิลลารี คลินตัน ต่างออกมากดดันรัฐบาลจีนและเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีกับผู้หญิงเหล่านี้จนได้รับการปล่อยตัว

 

"สตรีนิยมคือจิตวิญญาณของฉัน ฉันคิดอยู่นานและเชื่อมาตลอดว่าสิ่งที่ฉันทำนั้นไม่ผิด ความเชื่อของฉันมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ สตรีนิยมจะไม่มีทางแยกออกจากฉันอย่างแน่นอน" - หลี่ ถิงถิง

 

ถิงถิงรณรงค์เรื่องรักร่วมเพศอย่างเปิดเผยและได้จัดพิธีแต่งงานกับแฟนสาวในปี 2015 แม้ว่าการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันในประเทศจีนจะไม่ถูกกฎหมาย และยังต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความยุติธรรมสำหรับผู้หญิงในจีนต่อไป

 

มู่หลาน 

สตรีผู้กล้าและกตัญญูชาวจีนในยุคที่ผู้หญิงมีหน้าที่เดียวคือแต่งงาน

ฮวา มู่หลาน (Hua Mulan) คือตัวละครหญิงชาวจีนของดีสนีย์ เล่าถึงสตรีที่เติบโตในสังคมจีน สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมที่ลูกชายเป็นความหวังสูงสุดของวงศ์สกุลและความกตัญญูของลูกสาวทำได้อย่างเดียวคือการแต่งงาน

 

มู่หลานตัดสินใจปลอมตัวเป็นชายเพื่อเกณฑ์ทหารไปทำสงครามแทนพ่อที่แก่ชรา โดยไม่เกรงกลัวต่อประเพณีหรือกฏหมาย มู่หลาน ออกรบนานถึง 12 ปี กลายเป็นนักรบที่มีทักษะและเป็นที่นับถือของกองทัพจีน แต่หลังจากโดนเปิดเผยตัวตนว่าเป็นผู้หญิงต่อให้มีความสามารถมากเพียงใด ต่อให้เป็นการแสดงความกตัญญูต่อครอบครัวและประเทศชาติก็ตาม ในสังคมที่ยกย่องให้ผู้ชายเป็นใหญ่ก็ยังมองว่าสิ่งที่มู่หลานทำเป็นเรื่องที่ผิดและไม่เหมาะสม

 

"ดอกไม้ที่บานท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายคือดอกไม้ที่หายากและงดงามที่สุด" - มู่หลาน

 

มีบทความจาก news.disney.com กล่าวถึงตัวละครมู่หลานไว้ว่า “มู่หลานกำลังเผชิญในสถานการณ์ที่เลวร้าย โดยไม่รู้ว่าตัวเองจะต้องต่อสู้หรือป้องกันตัวอย่างไร เธอสู้ในฐานะนักรบที่น่าเกรงขามและได้รับความไว้วางใจจากคนรอบข้าง สิ่งนี้เรียกชัยชนะ เมื่อมู่หลานพบเจออุปสรรค เธอเรียนรู้วิธีเอาชนะเพื่อยืนหยัดและเติบโต เพราะเธอคือนักรบผู้กล้าหาญ”

 

สังคมที่ให้ชายเป็นใหญ่และการด้อยค่าเพศหญิงถูกปลูกฝังแทบทั่วทั้งเอเชีย ไม่เว้นแม้แต่สังคมเกาหลีในทุกวันนี้

คิมจียอง

สตรีในวรรณกรรมเกาหลีที่หลายคนไม่อยากให้ผู้หญิงอ่าน

"คิมจียอง เกิดปี 82" (Kim Ji-Young, Born 1982) วรรณกรรมที่สะท้อนเรื่องจริงของผู้หญิงที่เกิดในสังคมเกาหลีใต้ ซึ่งลูกชายถือเป็นสิ่งล้ำค่าของครอบครัว ผิดกับลูกสาวที่ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเลือกทางเดินของตัวเอง

 

คิมจียอง หญิงสาววัยสามสิบกลาง ๆ ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบตามที่สังคมขีดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งมีการศึกษา มีงานที่รัก มีครอบครัวที่อบอุ่น มีสามีที่มีการงานมั่นคง ทั้งคู่มีลูกสาวที่น่ารักด้วยกันหนึ่งคน มองเผิน ๆ ชีวิตของคิมจียองดูเหมือนเพรียบพร้อมปกติทั่ว ๆ ไป แต่ที่ผ่านมาคิมจียองต้องเจอกับความไม่เท่าเทียมทางเพศที่ครอบครัวและสังคมเลือกปฏิบัติมาตลอด ซึ่งเหมือนจะเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วสำหรับสังคมของเกาหลี ตั้งแต่การเลี้ยงดูลูกสาวอย่างลำเอียง เคยถูกเพื่อนผู้ชายลวนลาม แต่พ่อกลับมองว่าเป็นความผิดของเธอ พอไปสมัครงานก็ไม่ได้รับโอกาสเพราะว่าเป็นผู้หญิง เมื่อมีครอบครัวต้องลาออกจากงานที่รักเพื่อมาดูแลลูก แต่สังคมกลับมองว่าเป็น "ปลิง" ที่คอยเกาะสามีกิน เหมือนกับว่าทุกสิ่งที่คิมจียองทำไม่เคยได้รับการยอมรับในสถานะใดเลย สุดท้ายความบอบช้ำสะสมทำให้สภาพจิตใจของเธอย่ำแย่

 

“ฉันยอมทิ้งการงาน ความฝัน ชีวิต แต่เป็นได้แค่ปลิงในสายตาคนอื่น พวกคุณมีสิทธิ์อะไรมาตัดสิน” - คิมจียอง

 

วรรณกรรมเรื่อง คิมจียอง เกิดปี 82 กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเรียกร้องสิทธิสตรีในเกาหลี และจุดประเด็นเรื่องการไม่เท่าเทียมในสังคมให้ลุกฮือขึ้นมาอีกครั้ง เกิดกระแส #metoo จากผู้หญิงจำนวนมากที่คิดว่า “ฉันก็ชะตาเดียวกันกับคิมจียอง” แต่ผู้หญิงก็ยังต้องถูกประนามถ้ามีใครบอกว่าตัวเองสนับสนุนวรรณกรรมเรื่องนี้ ผู้เขียนโชนัมจู (Cho Nam-Joo) ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับผู้หญิงในสังคมเกาหลี ซึ่งต่างอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมหาศาล

แนวคิดที่ยกให้ผู้ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) มาจากลัทธิขงจื๊อ ถึงแม้จะผ่านมากี่ร้อยปี การกดขี่เพศหญิงยังคงอยู่ในสังคมเกาหลีปัจจุบัน

 

บียอนเซ่ โนวส์

สตรีผู้ใช้เสียงเพลงต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทั้งสีผิว ความงาม และคุณค่าของผู้หญิง

 

บียอนเซ่ โนวส์ (Beyoncé Knowles) หรือที่เหล่าแฟนเพลงเรียกว่า "Queen Bey" กลายเป็นตัวแม่แห่งสตรีนิยมผิวสียุคใหม่ แม้ว่าจะเติบโตในยุคมิลเลนเนียลที่มีแต่ประเด็นกีดกันทางเพศ แต่ยังแข็งแกร่งสามารถก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์หญิงที่ยิ่งใหญ่ของโลก บียอนเซ่พิสูจน์ให้ผู้หญิงทุกคนเห็นแล้วว่า ผู้หญิงที่ทำได้หลายหน้าที่ สามารถเลือกใช้ชีวิตในแบบของตัวเองได้ แม้บียอนเซ่จะแต่งงานแล้ว และเป็นแม่คน เธอก็ยังมีกระแสนำหน้าคลื่นลูกใหม่คนอื่น ๆ เธอปลุกสาว ๆ ทั้งหลายให้ “ตื่น” ด้วยการระเบิดพลังออกมาเป็นผลงานเพลงเพื่อผู้หญิงทั้งหลาย ที่ทั้งดุดัน เซ็กซี่ และเป็นตัวของตัวเอง

หลายปีที่ผ่านมา Queen Bey มีเพลงที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาปฏิวัติตัวเอง เช่น

  • Independent Women Part 1 สาวๆทั้งหลายที่ไม่พึ่งพาใคร ชูมือขึ้นมาให้ฉันเห็นสิ พูดดัง ๆ ว่า “ฉันพึ่งพาตัวเองได้”
  • Run The World (Girls) ใครจะครองโลก! สาว ๆ อย่างพวกเราไง!
  • Bow Down อย่าลืมความฝัน เราเลือกชีวิตของตัวเองได้

แม้ในเพลงจะมีการล้อเลียนเรื่องเพศ รวมถึงเครื่องแต่งกายที่วาบหวิว แต่ก็เป็นการแสดงออกที่ผ่านการคิดมาแล้วอย่างถี่ถ้วน ครั้งหนึ่งบียอนเซ่เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Vougue UK ถึงประเด็นภาพลักษณ์สตรีนิยมไว้อย่างน่าสนใจ

 

"เรารู้ว่าผู้หญิงผิวดำนั้นสวยงามมากแค่ไหน แตกต่างอย่างไร ถูกกีดกันมากแค่ไหน แต่ทั้งหมดนั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เรางดงาม" - บียอนเซ่ โนวส์

 

เป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงผิวดำจะถูกเป็นที่ยอมรับ แต่บียอนเซ่คือหนึ่งเดียวที่ทุกคนต่างยกย่องให้เป็นราชินีแห่งวงการเพลง บียอนเซ่เป็นนักร้องหญิงผิวดำคนแรกที่ได้ขึ้นแสดงเปิดงานเทศกาลดนตรี Coachella ซึ่งเป็นการประกาศจุดยืนของผู้หญิงผิวสี การแสดงพลังผู้หญิงของ บียอนเซ่ แสดงออกอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผ่านภาพลักษณ์ การแต่งกาย แม้กระทั่งวงและแดนเซอร์หลักของเธอก็ยังเป็นผู้หญิงทั้งหมด

 

เซจ ปอล 

สตรีผู้เป็นศิลปินที่ยกย่องหญิงพื้นเมืองและทำให้แฟชั่นพื้นเมืองไปสู่เวทีโลก

เซจ ปอล (Sage Paul) ศิลปินพื้นเมืองชาวเดเน (Dené) จากโตรอนโตที่มีชื่อเสียงด้านแฟชั่น เครื่องแต่งกาย และงานฝีมือ เซจมีบทบาทมากเกี่ยวกับแฟชั่นพื้นเมืองในแคนาดา เธอต้องการถ่ายทอดให้ทุกคนได้เห็นว่าแฟชั่น งานหัตถกรรม และสิ่งทอโดยฝีมือของผู้หญิงพื้นเมืองสามารถเพิ่มมูลค่าได้ โดยใช้เวที Indigenous Fashion Week Toronto (IFWTO) เป็นพื้นที่จัดแสดงคอลเลคชันของเธอ คอนเซปต์แฟชั่นพื้นเมืองของเซจ คือการสื่อสารโดยมองว่า "แฟชั่นก็เหมือนภาษา" เสื้อผ้าสามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อระบุตัวตนประเทศต่าง ๆ ได้

 

เซจ ปอล ซาบซึ้งและกล่าวถึงเหล่าหญิงชนพื้นเมืองที่เป็นแรงบันดาลใจในผลงานแฟชั่นของเธอ

สตรีพื้นเมืองที่ช่วยปูทางให้กับสิ่งที่เราอยู่ในขณะนี้ด้วยแฟชั่นของชนพื้นเมือง แม้แต่ตัวฉันเองก็ยังมีพื้นที่เพราะงานที่ผู้หญิงเหล่านี้ทำ” - เซจ ปอล

 

เธอไม่อายที่จะบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองในงาน รวมถึงช่วงเวลาที่เปราะบาง โดยเล่าผ่านงานศิลปะและคอลเลคชันของเธอ ไลน์เสื้อผ้าล่าสุดพูดถึงความบอบช้ำเมื่อครั้งที่เธอแท้งลูก

“แฟชั่นก็คือภาษา คุณสามารถบอกความลับของคุณผ่านแฟชั่นได้ และมันก็ไม่ได้อ่อนแอขนาดนั้น” - เซจ ปอล

 

นอกจากการต่อสู้แล้วการส่งเสริมก็ถือว่าเป็นการแสดงพลังของผู้หญิงอีกรูปแบบหนึ่ง ใครจะมองเห็นคุณค่าของผู้หญิงได้เท่ากับผู้หญิงด้วยกันเอง เซจได้มองเห็นคุณค่าของผู้หญิงพื้นเมืองและนำมาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะจนเป็นที่ยอมรับ นั่นก็เท่ากับว่าทั่วโลกได้เห็นคุณค่าของสตรีพื้นเมืองด้วยเช่นกัน

 

นาไนอา มาฮูทา

สตรีชาวเมารี ผู้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของนิวซีแลนด์

นาไนอา มาฮูทา (Nanaia Mahuta) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงคนแรกของนิวซีแลนด์ ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นชาว "เมารี" ชนเผ่าพื้นเมืองคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศนิวซีแลนด์อีกด้วย นาไนอากล้าเปิดเผยรอยสักบนใบหน้าของตัวเอง เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนบนโลกได้เห็นว่าเธอภูมิใจในความเป็นชนพื้นเมืองเมารี และให้เกียรติบรรพบุรุษ อีกทั้งยังต้องการลบความเชื่อผิด ๆ ที่ถูกมองว่าชาวเมารีเป็นกลุ่มอันธพาลและก่ออาชญากรรมต่าง ๆ

 

นาไนอา ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวหลังจากดำรงตำแหน่งนี้ด้วยว่า

"เป็นเกียรติอย่างยิ่ง และหวังว่าผู้คนจะเห็นถึงการเป็นผู้หญิงคนแรกของผู้หญิงอีกหลายคนในรัฐสภาแห่งนี้ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจากการที่เราเป็นประเทศแรกในโลกที่ให้สิทธิเลือกตั้งแก่ผู้หญิง เป็นประเทศแรกที่ให้ความเชื่อมั่นว่า เรามีความก้าวหน้าในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับผู้หญิง" - นาไนอา มาฮูทา

 

การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของนาไนอา เป็นการจุดประกายความหวังให้กับผู้หญิงทั่วโลก เพราะเป็นเรื่องยากที่ผู้หญิงจะได้รับโอกาส โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นชนพื้นเมือง นี่อาจเป็นสัญญาณที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อยในบางประเทศก็มีการเปิดกว้างและให้คุณค่าในความสามารถมากกว่าเพศสภาพและรูปลักษณ์

รอยสักบนใบหน้าของนาไนอา เรียกว่า "โมโก" (Moko) หรือ Tāmoko เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่หลายร้อยปีของชาวเมารี ผู้ชายจะสักทั่วใบหน้า ส่วนผู้หญิงจะสักเฉพาะที่คาง เป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกสถานภาพทางสังคม บทบาท และการแสดงออกของแต่ละตระกูล

 

มาริเอะ คนโดะ

สตรีชาวญี่ปุ่นผู้ส่งแรงบันดาลใจไปทั่วโลกที่ทำให้ทุกคนลุกขึ้นมาจัดบ้าน

มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) นักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนลุกขึ้นมา "จัดระเบียบบ้าน" โดยเขียนหนังสือที่ชื่อว่า "ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว" มาริเอะจะแนะนำให้คำถามกับตัวเองว่าสิ่งของเหล่านั้นยัง "จุดประกายความสุข" อยู่หรือไม่ (Spark Joy) และเลือกเก็บเฉพาะสิ่งที่ทำให้รู้สึกมีความสุข เป็นวิธีที่จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าสิ่งไหนควรเก็บ สิ่งไหนควรทิ้ง ซึ่งการระเบียบบ้านสุดพิเศษวิธีนี้เรียกว่า "KonMari" 

 

แนวทางการจัดระเบียบบ้านของมาริเอะได้รับแรงบันดาลใจจากหลักปรัชญาของศาสนาชินโต เชื่อว่าทุกสิ่งมีพลังงานหรือศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งการทำบ้านให้สะอาดและเป็นระเบียบอย่างถูกต้องจะช่วยนำทางชีวิต หากคิดตามง่าย ๆ หมายถึงการที่เราอยู่ท่ามกลางสิ่งของที่เราชอบ ทุกสิ่งมีผลต่อสุขภาพจิตที่ดี และช่วยดึงดูดแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาในชีวิต นั่นคือประกายแห่งความสุข

 

การรักษาสิ่งที่คุณมี เป็นการเคารพสิ่งของที่คุณเป็นเจ้าของ ใช่ว่าใช้แล้วก็ทิ้งไป ไม่ว่าเงินจะมีมูลค่าเท่าไหร่ก็ล้วนแต่มีค่า การสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของวัตถุแต่ละชิ้นนั้นล้วนเป็นวิถีชีวิตของศาสนาชินโต
- มาริเอะ คนโดะ

 

ใครจะคิดว่า "การจัดบ้าน" ซึ่งเป็นหน้าที่ปกติของผู้หญิงจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ จนสามารถทำให้มาริเอะ กลายเป็น หนึ่งใน "100 คนที่มีอิทธิพลมากที่สุด" ของ TIME Magazine ปี 2015 แนวทางการจัดบ้านของมาริเอะแสดงให้เห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่ทำให้มีความสุขล้วนมีคุณค่าในตัวเอง เป็นข้อความที่นุ่มนวลแต่ทรงพลังในฐานะของผู้หญิงคนหนึ่ง เราจึงควรเคารพในคุณค่าของสิ่งเหล่านั้น

 

เพจ อัลส์

สตรีนักโต้คลื่นผู้พิสูจน์ตัวเองบนยอดคลื่นที่ผู้ชายยังไม่กล้าทำ

ปิดท้ายด้วย เพจ อัลส์ (Paige Alms) นักโต้คลื่นลูกใหญ่ชาวฮาวาย (Big-wave surfers) สตรีผู้พิสูจน์ให้ทั่วโลกเห็นว่า "ผู้หญิงก็เล่นกีฬาเก่งสู้ผู้ชายได้ แถมยังเก่งระดับโลก" ไม่เพียงเท่านั้น เพจ ยังใช้ความสามารถนี้เรียกร้องสิทธิสตรีด้วยการลงแข่งขันแบบตัวต่อตัวกับผู้ชาย เพื่อต้องการให้นักโต้คลื่นหญิงได้ค่าตอบแทนเท่าเทียมกับนักโต้คลื่นชาย และสิทธิในการลงแข่งขันทุกรายการแบบที่มีทั้งเพศชายและเพศหญิง

 

ทั่วโลกรู้จัก เพจ อัลส์ จากการแข่งขันรายการ Mavericks ณ อ่าว Pillar Point สถานที่ท่องเที่ยวเลื่องชื่อว่าเป็นจุดที่มีคลื่นสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่กว่า เพจ จะเป็นที่ยอมรับได้แบบนี้ต้องใช้เวลาทั้งชีวิตฝึกซ้อมอย่างหนักตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนอายุ 13 ปี เพจ เคยได้รับตำแหน่งในสหพันธ์การโต้คลื่น แห่งสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น เพจ ก็เริ่มอุทิศตัวเองให้กับกีฬาโต้คลื่นเพื่อต้องการเป็นนักโต้คลื่นลูกใหญ่มืออาชีพ ซึ่งมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่ทำได้ เธอเฝ้าฝึกฝนตั้งแต่คลื่นสูงระดับ 20 ฟุตไปจนถึงระดับ 60 ฟุต และได้รับชัยชนะการแข่งขันทัวร์นาเมนต์พิชิตคลื่นลูกใหญ่ในรายการ World Surf League 2016 เป็นครั้งแรก และครองตำแหน่งสองปีซ้อนในปี 2017 ก้าวขึ้นมาเป็น "นักโต้คลื่นลูกใหญ่ที่เก่งที่สุดในโลกที่เป็นผู้หญิง"

 

"มีสมาธิ ฝึกให้หนักและฝันให้ยิ่งใหญ่ ทุกสิ่งสามารถเป็นไปได้ถ้าเราตั้งใจทำมันอย่างมากพอ" - เพจ อัลส์

 

เพจ อัลส์ ไม่เพียงแต่ทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จ เธอยังสานฝันให้นักกีฬาโต้คลื่นหญิงคนอื่น ๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถในการแข่งขันรายการที่มีชื่อเสียงอย่าง Mavericks ซึ่งเป็นรายการที่เพจเคยชนะการแข่งขันมาแล้ว ด้วยการระดมทุนจากการทำคลิปวิดีโอแสดงการโต้คลื่นของเธอและเพื่อนนักกีฬา นอกจากเพจจะพยายามผลักดันตัวเองและเพื่อนฝูงให้ประสบความสำเร็จได้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว เธอยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักกีฬาคนอื่น ๆ ให้ก้าวข้ามขีดจำกัดความเป็นผู้หญิงและเดินตามความฝันอย่างมุ่งมั่น

 

ทุกการต่อสู้ที่พาผู้หญิงมาไกลจนถึงวันนี้ ยังไม่สิ้นสุด มีผู้หญิงอีกมากที่เผชิญกับความไม่เท่าเทียมและความรุนแรง เนื่องในวันสตรีสากลเราหวังว่าจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นแก่ผู้หญิงทั่วโลก และขอให้ทุกคนภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็น "ผู้หญิง"

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#วันสตรีสากล, 
#8มีนาคม, 
#InternationalWomen'sDay, 
#ผู้หญิง, 
#วันสตรีสากล2022, 
##Breakthebias, 
#GenderEqualityTodayForASustainableTomorrow, 
#เทพวีนัส, 
#สัญลักษณ์เพศหญิง, 
#ดอกมิโมซ่าสีเหลือง, 
#สีประจำวันสตรีสากล, 
#อำแดงเหมือน, 
#สิทธิสตรีไทย, 
#นางเหมือน, 
#ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคน, 
#คลุมถุงชน, 
#อำแดงเหมือนกับนายริด, 
#หญิงหย่าชายหย่าได้, 
#LiTingting, 
#หลี่ถิงถิง, 
#LGBTQ, 
#สิทธิสตรีชาวจีน, 
#สิทธิสตรีสากล, 
#FeministFive, 
#ฮิลลารีคลินตัน, 
#มฮวามู่หลาน, 
#HuaMulan, 
#เจ้าหญิงดีสนีย์, 
#คิมจียอง, 
#KimJi-Young,Born1982, 
#โชนัมจู, 
#วรรณกรรมเกาหลี, 
#ChoNam-Joo, 
#ความไม่เท่าเทียมทางเพศ, 
#Patriarchy, 
#ลัทธิขงจื๊อ, 
#บียอนเซ่โนวส์, 
#นักร้องชาวผิวสี, 
#BeyoncéKnowles, 
#QueenBey, 
#IndependentWomenPart1, 
#RunTheWorld(Girls), 
#BowDown, 
#VougueUK, 
#Coachella, 
#เซจปอล, 
#SagePaul, 
#IndigenousFashionWeekToronto, 
#นาไนอามาฮูทา, 
#ชาวเมารี, 
#รัฐมนตรีต่างประเทศ, 
#NanaiaMahuta, 
#ชนเผ่าพื้นเมือง, 
#รอยสักโมโก, 
#Mokotattoo, 
#Tāmoko, 
#มาริเอะคนโดะ, 
#การจัดบ้าน, 
#SparkJoy, 
#KonMari, 
#ศาสนาชินโต, 
#เพจอัลส์, 
#นักโต้คลื่น, 
#PaigeAlms, 
#Big-wavesurfers, 
#Mavericks, 
#PillarPoint, 
#WorldSurfLeague, 
#ความเหลื่อมล้ำทางเพศ, 
#สัญลักษณ์วันสตรีสากล 
ผู้เขียนบทความ
avatar
ณภัค ภูมิชีวิน
POOMM
เป็นคนคิดอย่างไร เขียนอย่างไร ไม่ใช่คนคิดอย่างไร เขียนอย่างนั้น
ALTV CI
StayInspired
StayInspired
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
ณภัค ภูมิชีวิน
POOMM
เป็นคนคิดอย่างไร เขียนอย่างไร ไม่ใช่คนคิดอย่างไร เขียนอย่างนั้น
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#วันสตรีสากล, 
#8มีนาคม, 
#InternationalWomen'sDay, 
#ผู้หญิง, 
#วันสตรีสากล2022, 
##Breakthebias, 
#GenderEqualityTodayForASustainableTomorrow, 
#เทพวีนัส, 
#สัญลักษณ์เพศหญิง, 
#ดอกมิโมซ่าสีเหลือง, 
#สีประจำวันสตรีสากล, 
#อำแดงเหมือน, 
#สิทธิสตรีไทย, 
#นางเหมือน, 
#ผู้หญิงเป็นควายผู้ชายเป็นคน, 
#คลุมถุงชน, 
#อำแดงเหมือนกับนายริด, 
#หญิงหย่าชายหย่าได้, 
#LiTingting, 
#หลี่ถิงถิง, 
#LGBTQ, 
#สิทธิสตรีชาวจีน, 
#สิทธิสตรีสากล, 
#FeministFive, 
#ฮิลลารีคลินตัน, 
#มฮวามู่หลาน, 
#HuaMulan, 
#เจ้าหญิงดีสนีย์, 
#คิมจียอง, 
#KimJi-Young,Born1982, 
#โชนัมจู, 
#วรรณกรรมเกาหลี, 
#ChoNam-Joo, 
#ความไม่เท่าเทียมทางเพศ, 
#Patriarchy, 
#ลัทธิขงจื๊อ, 
#บียอนเซ่โนวส์, 
#นักร้องชาวผิวสี, 
#BeyoncéKnowles, 
#QueenBey, 
#IndependentWomenPart1, 
#RunTheWorld(Girls), 
#BowDown, 
#VougueUK, 
#Coachella, 
#เซจปอล, 
#SagePaul, 
#IndigenousFashionWeekToronto, 
#นาไนอามาฮูทา, 
#ชาวเมารี, 
#รัฐมนตรีต่างประเทศ, 
#NanaiaMahuta, 
#ชนเผ่าพื้นเมือง, 
#รอยสักโมโก, 
#Mokotattoo, 
#Tāmoko, 
#มาริเอะคนโดะ, 
#การจัดบ้าน, 
#SparkJoy, 
#KonMari, 
#ศาสนาชินโต, 
#เพจอัลส์, 
#นักโต้คลื่น, 
#PaigeAlms, 
#Big-wavesurfers, 
#Mavericks, 
#PillarPoint, 
#WorldSurfLeague, 
#ความเหลื่อมล้ำทางเพศ, 
#สัญลักษณ์วันสตรีสากล 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา