สิ่งที่อยู่รอบตัวเราล้วนแต่งแต้มไปด้วยสีสัน ทั้งที่มาจากธรรมชาติ และสร้างขึ้นโดยฝีมือมนุษย์ นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความรู้สึกนึกคิดของเราอย่างแยกไม่ออก วันนี้ ALTV จึงนำเกร็ดความรู้เกี่ยวกับอิทธิพลของสีในชีวิตประจำวันมาฝากเพื่อน ๆ กัน
"สี" มีความสำคัญกับมนุษย์เรามากกว่าในเชิงศิลปะ แต่รวมไปถึงชีวิตประจำวันของเราทุกคน ตั้งแต่การแต่งกาย การบอกเล่าเรื่องราว การใช้เป็นสัญลักษณ์ หรือแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ออกจากกัน ในทางจิตวิทยาสามารถส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด พฤติกรรม ไปจนถึงช่วยกล่อมเกลาจิตใจได้ และบางครั้งถูกใช้เปรียบเปรยเข้ากับความรู้สึกที่เป็น "นามธรรม" เช่นวลีที่ว่า "She started to see red" ที่ไม่ได้หมายความว่า "เขาเห็นสีแดง" แต่หมายถึง "เขารู้สึกโกรธอย่างมาก" ในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก สีเชื่อมโยงเข้ากับคติความเชื่อ โชคลาภ ลางร้าย ที่เห็นได้ชัด ๆ คือความเชื่อเรื่อง "สีมงคล" ที่ในบ้านเราค่อนข้างเอาจริงเอาจังกันมาก ถึงกับมีตารางสีเสื้อมงคลกันเลยทีเดียว
ในประเทศอินเดียผู้คนเชื่อว่า "มิตรภาพที่ดีก็เหมือนสีที่ติดแน่น ไม่จางหาย" ทุกเดือนมีนาคมของทุกปี ผู้คนจะออกมาเฉลิมฉลองด้วยการปาฝุ่นสีใส่กันอย่างสนุกสนาน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "เทศกาลโฮลี (Holi festival)" ในแง่ศาสนาถือเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่พระวิษณุตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา
การเฉลิมฉลองเทศกาลโฮลีคล้ายกันกับงานสงกรานต์ของบ้านเรา เพียงเปลี่ยนจากสาดน้ำเป็นผงสีสาดใส่กัน นิยมจัดการละเล่นกันในช่วงกลางวัน ส่วนเวลาช่วงเย็นจะเป็นเวลาของการพบปะสังสรรค์ เทศกาลโฮลีจึงถือเป็นเทศกาลที่แสดงมิตรภาพ และเป็นโอกาสของผู้คนที่เคยห่างหายได้พบหน้ากันอีกครั้ง
งานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ยืนยันว่า "สี" มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคนเรา และเป็นไปได้ว่าพลังของมันจะส่งผลไปถึงร่างกายของเราด้วย
สีบำบัด (Chromotherapy) หรือ Color therapy เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการนำพลังของสีมาใช้บำบัดเยียวยากายและใจ มีพื้นฐานแนวคิดมาจากการใช้สีสันต่าง ๆ ที่มีคลื่นพลังงานและความถี่ต่างกัน เข้าไปกระตุ้นการทำงานของสมอง เช่น กลุ่มโทนร้อน (คลื่นยาว) จะช่วยกระตุ้นสมองปลุกเร้า เสริมพลัง ในทางกายภาพทำให้มีแนวโน้มรู้สึกอยากอาหาร และกระหายน้ำ ส่วนกลุ่มสีโทนเย็น (คลื่นสั้น) จะช่วยเรื่องการผ่อนคลายสมอง ทำให้รู้สึกสงบ เหมาะสำหรับเยียวยาผู้ที่ต้องใช้สมองหนักเป็นประจำ
ถึงอย่างไรก็ตามสีบำบัดจะให้ผลลัพธ์ในเชิงจิตวิทยามากกว่า ในกายภาพนั้นยังคงต้องการงานวิจัยมารองรับอีกมากว่าช่วยรักษาโรคแล้วเห็นผลจริงหรือไม่ แต่ก่อนอื่นเราไปดูกันดีกว่าว่าในทางจิตวิทยา สีไหนบำบัดเยียวยาเราได้อย่างไรบ้าง
ในฐานะคนทำงาน ไม่ว่าใครก็ต้องอยากให้ผลลัพธ์ของงานออกมาปัง หนึ่งในคีย์ลับที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างไม่น่าเชื่ออาจมาจาก สีต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวคุณ ตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่ทำงาน
สีช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำได้มากขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ในงานศึกษาของนักมานุษวิทยา ประจำมหาวิทยาลัย Durham ประเทศอังกฤษ พบว่าผู้เข้าแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่สวมชุดสีแดงในการแข่งขัน ชกมวย เทควันโด และมวยปล้ำรูปแบบฟรีสไตล์ จะมีเปอร์เซนต์ชนะถึง 60 จากสีทั้งหมด เพราะสีแดงสามารถครอบงำจิตใต้สำนึก เร่งให้เกิดความก้าวร้าว และผู้เข้าแข่งขันฝั่งตรงข้ามสามารถรับรู้ได้ถึงความรู้สึกถูกข่มขู่คุกคามได้มากกว่า
ซึ่งเราสามารถใช้ประโยชน์จากสี ด้วยการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย การจัดสำนักงาน การจัดโต๊ะทำงานก็แล้วแต่สะดวก
ในด้านการตลาด "สี" เปรียบเสมือนด่านแรกที่จะสร้างความประทับใจให้กับผู้ซื้อ มีผลงานวิจัยระบุไว้ว่าสีสันเพียงอย่างเดียว ก็สามารถเพิ่มการจดจำแบรนด์ได้ถึง 80% แล้ว ด้วยเหตุนี้เองสีสันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ถูกพิจารณาเป็นอันดับแรก ๆ ของการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น โลโก้ สีประจำสำนักงาน หรือการออกแบบสื่อโปรโมตต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากเลือกสีก็ถือดีถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง ตรงกันข้ามหากเลือกสีไม่เหมาะกับบุคลิกของแบรนด์ก็อาจทำให้สินค้าไม่เป็นที่จดจำเลยก็เป็นได้
เรามาดูไปพร้อมกันดีกว่าว่าแต่ละสีมีความหมายอย่างไรในด้านการตลาด แล้วมีแบรนด์ไหนเลือกใช้สีไหนบ้าง
สีแดงเป็นสีแห่งความรักโรแมนติก ในทางจิตวิทยาสามารถกระตุ้นความฮึกเหิม แสดงความมั่นใจ สามารถเบรกสายตาให้หยุดมองได้รวดเร็ว และช่วยลดการคิดเชิงวิเคราะห์ เป็นเหตุผลว่าทำไมป้ายราคาสินค้าลดราคามักใช้สีแดง พลังของสีแดงยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้แบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Coca-Cola ยังคงอยู่มาถึงทุกวันนี้ เพราะมีงานศึกษาค้นพบว่าด้วยสีแดง แบบ "True red" ตามสไตล์ของแบรนด์นี่เอง ที่ผู้คนจดจำแบรนด์นี้ได้ ในปัจจุบันแบรนด์ดังที่ใช้สีแดง ได้แก่ Netflix ,Nintendo ,Pinterest
จิตวิทยาของสีน้ำเงินแสดงถึงความ "มืออาชีพ ความน่าไว้วางใจ และความเป็นผู้ใหญ่" มักเป็นสีที่บริษัทเทคโนโลยี บริษัทรถยนต์ หรือการเงินเลือกใช้ เพราะด้วยพลังของสีน้ำเงินจะสามารถสร้างความรู้สึกปลอดภัย และน่าไว้วางใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ สังกตได้ว่าธนาคารบ้านเราก็นิยมใช้เฉดสีน้ำเงินเป็นจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับสีอื่น ๆ
แบรนด์ดังที่เลือกใช้สีน้ำเงิน ได้แก่ ได้แก่ META (facebook) , Paypal, Walmart
สีเหลืองเป็นสีที่สัมพันธ์กับความสุข และเห็นได้ชัดที่สุดในเวลากลางวัน ส่วนหนึ่งที่โลโก้ของ "แมคโดนัลด์" มองเห็นได้ง่ายแม้ตั้งอยู่ริมถนนที่รถพลุกพล่าน ก็มีส่วนมาจากโลโก้ตัว M สีเหลืองนี่แหละ เรามักเห็นสีเหลืองได้จากพระอาทิตย์ แสงแดด หรือดอกไม้ที่บานสะพรั่ง สีเหลืองจึงเป็นสีที่เพิ่มความมีชีวิตชีวา สดใส เหมาะอย่างยิ่งกับเด็ก ๆ แบรนด์ดังที่เลือกใช้สีเหลือง ได้แก่ Mcdonald ,Subway , Snapschat
สีส้มเป็นสีตรงกลางระหว่างแดงและเหลือง ไม่ดูแรงไป และไม่ติดเล่นไป ในทางจิตวิทยาสามารถปลุกเร้าความรู้สึกตื่นเต้น กระตือรือร้น และให้พลังงาน เป็นสีสันที่สนุกสนานและกระฉับกระเฉง พบมากในการสร้างแบรนด์ของทีมกีฬาต่าง ๆ แบรนด์ดังที่เลือกใช้สีส้ม ได้แก่ JBL, dunkin donut, Fanta
สีเขียวเป็นสีที่สื่อถึงธรรมชาติด้วยตัวมันอยู่แล้ว ในทางจิตวิทยาความรู้สึกถึง "ธรรมชาติ สุขภาพที่ดี และ เป็นมิตร" สีเขียวที่เข้มลงมาหน่อยจะแสดงถึงความมั่งคั่งและเงินทอง แบรนด์เครื่องดื่มอย่าง Starbuck เลือกใช้สีเขียวเข้มเพื่อต้องการให้แสดงถึงทัศนคติที่ดีที่แบรนด์ปฏิบัติต่อลูกค้าและกลุ่มพันธมิตร สอดคล้องกับคติของแบรนด์ที่ต้องการดูรับผิดชอบต่อสังคม แบรนด์ดังที่เลือกใช้สีเขียว ได้แก่ Starbuck, spotify, Greengaint
เวลาเราพบเห็นใครบางคนที่ใส่เสื้อผ้าสีแดงหัวจรดเท้า อาจทำให้เราด่วนตัดสินไปก่อนว่าคนนี้ต้องเป็นคนแรง ๆ แน่นอน กลับกันเมื่อเจอใครก็ตามใส่สีชมพู ก็ต้องคิดว่าเป็นคนซอฟต์หวานไว้ก่อน นั่นเป็นเพราะในเชิงจิตวิทยา สีสันต่าง ๆ สามารถส่งผลไปถึงการตีความ และการรับรู้ของคนรอบข้างได้ เรามาดูไปดูกันดีกว่าว่าสีมีพลังในการถ่ายทอดอารมณ์และการรับรู้ของคนรอบข้างอย่างไรกันบ้าง
นอกจากความโดดเด่นท่ามกลางฝูงชนแล้ว ในทางจิตวิทยาสีแดงเป็นสัญญาณเตือนภัยอันตรายตามธรรมชาติ และมีความข่มขู่คุกคามในตัวมันอยู่แล้ว เรามักพบเห็นสีแดงในสัญลักษณ์ของ "การระมัดระวัง" หรือแม้กระทั่งบนใบหน้าของผู้คนเมื่อพวกเขาโกรธ การสวมชุดสีแดงจึงช่วยให้ผู้คนรู้สึกถึงอำนาจ และพลังของคุณได้
เรามักเชื่อมโยงสีส้มเข้ากับพลังงานต่าง ๆ ในทางจิตวิทยาสื่อถึงความสดใส พลังงานเหลือล้น ในขณะเดียวกันก็ดึงดูดความสนใจได้ดี และดูเป็นมิตรมากกว่าสีแดง นักจิตวิทยาแนะนำว่าหากคุณเป็น Introvert ที่อยากเป็นคนที่ดูเข้าสังคมเก่ง การใส่สีส้มออกจากบ้านคุณจะกลายเป็นคนที่ดูเปิดเผยได้ในทันที
เราเชื่อมโยงสีเหลืองเข้ากับดวงอาทิตย์ แหล่งพลังงานที่ให้ความอบอุ่น ในทางจิตวิทยาสีเหลืองเป็นสีที่สื่อถึงความสนุกสนาน ความอิสระ และสามารถสร้างความรู้สึก Positive ได้ทันทีตั้งแต่แรกเห็น หากวันไหนที่ตื่นเช้ามาแบบอึมครึม การหยิบสีเหลืองขึ้นมาใส่สามารถช่วยไล่เอเนอร์จี้ลบได้
เป็นสีที่สัมพันธ์กับธรรมชาติที่เราพบเห็นได้ทุกที่ มันจึงเป็นสีที่ดูเข้าถึงได้ง่ายมาก ในเฉดเข้มขึ้นจะสื่อถึงความมั่งคั่ง หรูหรา ซึ่งเรามักพบเห็นได้จากสีของธนบัตรต่าง ๆ นักจิตวิทยากล่าวว่าสีเขียวเหมาะสำหรับการเริ่มต้นใหม่ หรือพบปะผู้คนใหม่ ๆ
สีชมพูมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับความเป็นผู้หญิงมานานหลายศตวรรษ และมักเกี่ยวข้องกับความนุ่มนวล ความเห็นอกเห็นใจ การใส่เสื้อผ้าสีชมพูจะทำให้มีภาพลักษณ์นุ่มละมุน เต็มไปด้วยพลังของความอ่อนโยน เป็นมิตร หากใครอยากดูเป็นคนซอฟต์ ๆ สีชมพูเป็นตัวเลือกที่ดี
สำหรับหลายคนสีดำอาจเป็นสีของความหม่นหมอง แต่อีกด้านหนึ่งสีดำหมายถึงพลังอำนาจ เพิ่มความแข็งแกร่งให้ผู้สวมใส่ ในบางครั้งผู้คนจะเห็นความเซ็กซี่ได้จากเสื้อผ้าสีดำ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าสีดำเป็นประโยชน์ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่ต้องเอาจริงเอาจัง หรือในสถานที่ที่คุณต้องได้รับการยอมรับจากคนจำนวนมาก
เมื่อได้เรียนรู้เรื่องราวของสี ซึ่งมีอิทธิพลกับชีวิตเราในหลาย ๆ ด้าน คงจะช่วยให้เราหยิบประโยชน์ของสีมาใช้ในชีวิตประจำวันได้สนุกสนานและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ที่มา: The Newyork times Ignyte verywellmind Realsimple