5 มิถุนายนของทุกปี “วันสิ่งแวดล้อมโลก” หรือ “World Environment Day”
ทุกครั้งที่พูดถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกประเทศต้องเจอ
ยิ่งถ้ามองเห็นรถเก็บขยะในทุก ๆ เช้าแล้ว หลายคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “รถไมโล” มาแล้ว ไม่พ่อ ก็แม่ที่ต้องเป็นคนลากถังขยะออกมาไว้ที่หน้าบ้าน เพื่อให้รถขยะมาเก็บไป หลายครั้งที่สังเกตตอนพี่เจ้าหน้าที่กำลังเทขยะนั้น มันมีหลายสิ่งร่วงหล่นมากมายทั้ง ขวดนม ซองขนม หลอด อาหาร พลาสติก เป็นต้น ซึ่งทำให้รู้ว่าหลาย ๆ บ้าน อาจไม่ได้แยกขยะก่อนทิ้ง วันนี้ ALTV ชวนมารณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยการพาไปส่องวิธีแยกขยะสุดเจ๋งในต่างแดน
ขออาสาออกเดินทางไปดูไอเดียแยกขยะสุดสร้างสรรค์ในต่างแดน หากนำมาปรับใช้ในไทยได้ ทุกคนอาจจะต้องร้องว้าว
1.เนเธอร์แลนด์ กับ วิธีเรียกเก็บเงิน !
เป็นการสร้างวินัย และกระตุ้นให้ประชาชนทุกคนเห็นถึงคุณค่าของขยะทุกประเภท เพื่อประโยชน์ต่อการนำขยะไปรีไซเคิลได้ง่าย ด้วยการให้จ่ายค่ากำจัดขยะเอง และเรียกเก็บค่าปรับกับบ้านที่ไม่ยอมคัดแยกขยะ จึงทำให้เป็นประเทศที่มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ยังมีกฎหมายบังคับใช้สำหรับผู้ผลิตสินค้า ให้รับผิดชอบค่ารีไซเคิลของตัวเอง ด้วยระบบมัดจำขวด ที่เรียกว่า Statiegeld ผู้ซื้อสินค้าเหล่านั้น สามารถกลับไปรับเงินที่ตู้คืนขวดในร้านค้าได้ โดยหลักการแยกขยะของที่นี่เป็นขยะทั่วไป และขยะที่รีไซเคิลได้ แบ่งย่อยเป็น 3 ถังหลัก ดังนี้
👉ถังที่ 1 Green Waste
สำหรับขยะอินทรีย์ ขยะอาหาร ผัก ผลไม้ เปลือกไข่ กากกาแฟ ต้นไม้ ใบไม้แห้ง และถังใบนี้ห้ามทิ้ง มูลสัตว์ ผ้าอ้อม ขี้เถ้า และทราย เป็นต้น
👉ถังที่ 2 สำหรับแก้ว
ด้วยประเทศนี้ มีเทคโนโลยีการรีไซเคิลแก้วที่ดีติดอันดับต้น ๆ ของโลก แก้วส่วนใหญ่จึงเข้าระบบมัดจำขวด แต่ถังนี้มีไว้เพื่อรับรองโหลแยม ขวดแก้วสำหรับอาหารชนิดอื่น และขวดอะคริลิกขนาดใหญ่ และที่สำคัญ ขวดแก้วต้องล้างทำความสะอาดมาก่อนจะทิ้งด้วย
👉ถังที่ 3 สำหรับกระดาษ
กระดาษทุกชนิด ทิ้งได้ แต่ก่อนจะทิ้งลงไปในถัง ต้องแยกห่อพลาสติก หรือสก๊อตเทปออกก่อนเสมอ เพราะว่าสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น ไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่ถังใบนี้ได้
นอกจากถังขยะทั้ง 3 ใบแล้ว ยังมีขยะประเภทอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องแยกทิ้งให้ถูกระเบียบ
👉ขยะอันตราย จำพวกโทนเนอร์ สีทาบ้าน เครื่องสำอาง และแบตเตอรี่ สิ่งพวกนี้ถือเป็นจัดอยู่ในกลุ่มขยะอันตราย มีวิธีจัดการง่าย ๆ คือการนำไปทิ้งขยะอันตรายตามซูเปอร์มาร์เก็ต หรือติดต่อให้เทศบาลมารับที่หน้าบ้านได้
👉อุปกรณ์ ICT คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก ปรินเตอร์ ต้องติดต่อไปที่ IT Recycling ให้มารับเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี แต่จะต้องจ่ายเงินภาษีที่เรียกว่า Recycling Tax ในทุกครั้งที่ซื้ออุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ชิ้นใหม่ หรือไม่ว่าจะเอาของชิ้นเก่าไปรีไซเคิลหรือไม่ก็ตาม
2.ประเทศญี่ปุ่น กับ วิธีแยกขยะเผาได้-เผาไม่ได้
ดินแดนแห่งการเคร่งครัดเรื่องการแยกขยะของประเทศนี้ เรียกได้ว่าเข้มงวดมาก ๆ หากใครทิ้งขยะผิดไปจากวันและเวลาที่กำหนด อาจทำให้เพื่อนบ้านเดินเอาขยะมาคืนให้เลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายบังคับให้ผู้ผลิต บอกรายละเอียดลงไปในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกวัสดุ และทิ้งได้แบบถูกที่ถูกทาง นอกจากนี้วัสดุบางชนิด ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบ พร้อมบริการรับคืนสินค้ากลับไปรีไซเคิลอีกด้วย
👉ขยะเผาได้
ประเทศนี้จัดการขยะด้วยการเผาเป็นส่วนใหญ่ จึงแบ่งวิธีการแยกประเภทขยะ ระหว่างขยะเผาได้คือขยะทั่วไปจำพวก เศษอาหาร กระดาษ ผ้า ยาง และบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ เป็นต้น โดยจะมีรถมาเก็บขยะตามจุดที่กำหนด สัปดาห์ละ 2 ครั้งเท่านั้น โดยวิธีการเผา
โดยวิธีการเผาจะไม่เหมือนกับประเทศไทย ที่จะเห็นหลาย ๆ บ้านเผากันกลางแจ้งเลย แต่ชาวญี่ปุ่นจะมีเทคโนโลยีการเผาที่แตกต่างจากที่อื่นที่เรียกว่า Fluidized bed เป็นเตาปฏิกรณ์เคมี และสามารถเผาวัสดุที่ย่อยยากได้ภายในไม่กี่นาที ซึ่งถือว่าวิธีนี้ทำให้ชาวญี่ปุ่น สามารถนำพลังงานมาผลิตไฟฟ้าใช้ภายในประเทศได้ แถมยังช่วยลดต้นทุนผลิตไฟฟ้าไปได้อย่างมหาศาล
👉ขยะเผาไม่ได้
จำพวกวัสดุไวไฟ เช่น กระป๋องสเปรย์ เครื่องครัว เซรามิก แก้ว เหล็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วจะเก็บขยะจำพวกนี้ เดือนละ 1-2 ครั้ง เพราะเป็นขยะที่พบเจอไม่ค่อยมากเท่าไหร่
3.ประเทศไต้หวัน ถุงขยะมีค่า
แต่ก่อนไต้หวันเปรียบเสมือนดินแดนเกาะแห่งขยะเลยก็ว่าได้ เพราะมีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาจึงได้คิดค้นระบบจัดการขยะ ที่เป็นไอเดียสุดสร้างสรรค์ เน้นให้ทุกบ้านคัดแยกขยะด้วยตนเอง ถ้าหากว่าจะทิ้งขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ ทุกคนจะต้องควักเงินซื้อถุงขยะที่มีบาร์โค้ด หรือสัญลักษณ์ของรัฐบาลเท่านั้น ยิ่งมีขยะมาก ก็จะทำให้เราเสียเงินซื้อถุงใบใหญ่ที่จำนวนเงินเพิ่มขึ้นกว่าเดิม แต่เงินทุกบาทที่ใช้จ่ายไปจะไม่สูญเปล่า เพราะรัฐบาลจะนำไปใช้เป็นค่าจัดการขยะในภายหลังได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ไต้หวันได้สร้างสรรค์ไอเดียผ่านเสียงเพลง Maiden’s Player หรือเพลง Fur Elise เรียกได้ว่าทุกบ้านที่ได้ยินเสียงเพลงเหล่านี้ นั่นเป็นสัญญาณบอกให้ทุกบ้านรู้ว่า "รถเก็บขยะกำลังจะมาถึงบ้านคุณแล้ว ให้เตรียมถุงขยะที่คัดแยกไว้ ออกมายืนรอริมถนนได้เลย" แต่ถ้าหากว่าบ้านไหนไม่สะดวกทิ้งในตอนนั้น ไต้หวันก็ได้สร้างแพลตฟอร์ม ที่สามารถเช็กตำแหน่งรถเก็บขยะที่ใกล้ที่สุดได้อีกด้วย เรียกว่าสะดวกสบายสำหรับชาวไต้หวันอย่างมาก
4.ประเทศเกาหลีใต้ กับ CleanCUBE ถังขยะอัจฉริยะ
นับว่าเป็นประเทศที่มีการรีไซเคิลขยะได้ดีที่สุดในโลก เพราะมีกฎหมายที่เข้มงวดจริงจัง เน้นให้ทุกคนใช้หลัก 3 R นั่นคือการลด Reduce , ใช้ซ้ำ (Reuse) และ หมุนเวียน (Recycle) และความโดดเด่นของถังขยะสุดอัจฉริยะของที่นี่ คือใช้พลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย หรือคลีนบิวบ์ (CleanCUBE)
ซึ่งถังขยะ CleanCUBE จะมีกลไกลการบีบอัดขยะให้เล็กลง ด้วยระบบ Smart Compaction Module ทำให้ถังขยะใบนั้น บรรจุขยะได้ถึง 720 กก. แต่การทิ้งขยะที่นี่ไม่ได้ทิ้งได้ฟรี ๆ เช่นกัน ทุกคนจะต้องชั่งน้ำหนักขยะ เพื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการทิ้งแต่ละครั้งด้วย นอกจากนี้ตัวถังขยะสุดอัจฉริยะยังสามารถเชื่อม wi-fi ให้เราได้รู้ว่าตั้งอยู่จุดไหนบ้างในถนนสายนี้
พอรู้ไอเดียวิธีจัดการขยะของประเทศอื่น ๆ บ้างแล้ว วันนี้จะพาไปดูในประเทศไทยกันบ้าง กับนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อม และขยะของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ จะมีวิธีการอะไรที่น่าสนใจ และจะแก้ปัญหาขยะได้จริงหรือไม่
ประเทศไทย กับ นโยบายส่งคืนขยะ
สด ๆ ร้อน ๆ กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ครองใจคนกทม.ไปอย่างล้นหลาม วันนี้จะขอพาไปดูนโยบายที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ในเรื่องของการจัดการขยะ ซึ่งเป็นปัญหาในสังคมไทย และดูเหมือนว่าจะปีไหน ๆ ก็ยังแก้ไม่ได้สักที แต่นโยบายการจัดการขยะครั้งนี้ จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ มาดูกันเลย
เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่หวังให้ กทม. ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ สนับสนุนโครงการนี้ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ได้เข้าถึงช่องทาง และสิทธิประโยชน์จากการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้สำเร็จ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
👉ตั้งจุด Drop off นัดรับขยะรีไซเคิล-ขยะกำพร้า
จัดตั้งจุดนี้ให้ครอบคลุมทั้ง 50 เขต โดยร่วมมือกับสถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ตลาด เป็นต้น เพื่อนัดรับขยะรีไซเคิล และขยะกำพร้าที่ใคร ๆ ก็ไม่รัก เป็นขยะมูลฝอย ไม่มีทั้งคนรับซื้อ และรีไซเคิลก็ไม่ได้ เช่น ถุงแกง ส้อม และกล่องโฟมใส่อาหาร เป็นต้น
👉ตู้รับคืนผลิตภัณฑ์รีไซเคิล จุดรับซื้อหรือสะสมแต้ม
เปลี่ยนเป็นส่วนลดในการซื้อของได้
👉ธนาคารขยะชุมชน สถานศึกษา และตลาดนัดขยะรีไซเคิล
ผลักดันโมเดลธนาคารขยะ และร่วมมือในการดูแลผู้ประกอบการรับซื้อของเก่า พร้อมกันการอบรม ให้ระบบการจัดการเป็นไปอย่างมืออาชีพ
5 มินายน วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) มาร่วมกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้บ้านของเราน่าอยู่มากขึ้น พร้อมชวนทุกคนออกไปเรียนรู้สุดยอดการบริหารจัดการขยะ ด้วยนวัตกรรมของคนไทย ในรายการ 2 องศา ทุกวันเสาร์ เวลา 17.00-17.30 น. ทาง ALTV ช่องหมายเลข 4 ทีวีเรียนสนุก
ที่มา : greenery,kapook,khaosod,penkonthai