คุณเป็นคนแบบนี้หรือเปล่า? ทำงานได้ดีในเวลากลางคืน แต่สมองตื้อตอนกลางวัน จนบางครั้งกลายเป็นคนขี้เกียจ ไร้ความกระตือรือร้นในสายตาคนอื่น คำตอบอาจไม่ใช่เพราะคุณเป็นคนเกียจคร้าน แต่อาจเป็นเพราะนาฬิกาชีวิต หรือ "ครอนอไทป์ (Chronotype)" ของคุณแตกต่างจากคนอื่นก็เป็นได้
ร่างกายของคนเราล้วนมี “นาฬิกาชีวิต” คอยกำหนดวงจรการทำงานของร่างกายตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมตั้งแต่การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เวลาการนอนหลับ การกิน การออกกำลังกาย ไปจนถึงช่วงเวลาของวันที่เราสามารถทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ตามคำกล่าวของ ไมเคิล บรูส (Michael Breus) ผู้เขียนหนังสือ The Power of When: พลังแห่งเมื่อไหร่ นาฬิกาชีวิตที่อยู่ภายในสมองเรานั้น เรียกว่า ‘ครอนอไทป์ (Chronotype)’ ซึ่งแตกต่างจากนาฬิกาปกติทั่วไปตรงที่มีรูปแบบ หรือ ‘จังหวะ’ การเดิน แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล
เป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนถึงสามารถตื่นเช้าเองได้ โดยไม่ต้องให้ใครปลุก บางคนใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้ดีในเวลากลางคืนสวนทางกับระบบวัฏจักรระบบสุริยะ ซึ่งไม่มีแบบไหนที่ดีที่สุด นั่นเป็นเพราะร่างกายคุณตั้งโปรแกรมมาแบบนั้น ซึ่ง บรูส สามารถแบ่งครอนอไทป์ ออกเป็น 4 แบบ อิงจากนิสัยการนอนของสัตว์ 4 ชนิด ได้แก่ สิงโต โลมา หมี และหมาป่า
การทำความเข้าใจนาฬิกาชีวิตของตนเอง ช่วยให้เราเข้าใจวงจรการนอนหลับ และช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพการทำงานของตนเองได้ รวมถึงเวลาที่คุณตื่นตัวมากที่สุดและตื่นตัวตลอดทั้งวัน
ใครที่ตื่นตั้งแต่ก่อนไก่โห่โดยไม่ต้องรอให้ใครมาปลุก หรือนอนดึกแค่ไหนก็ต้องเด้งตัวออกจากเตียงแต่เช้า ทั้งที่ใจอยากของีบต่อ คุณจัดอยู่ในครอนอไทป์แบบสิงโต
คนประเภทสิงโตมีพลังงานเหลือล้นตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงเที่ยงวัน หรือตั้งแต่เวลา 09:00 - 12:00 ซึ่งเหมาะกับการทำงานที่ต้องใช้ความคิดหนัก ๆ หรือการออกไอเดียสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังเป็นช่วงไพร์มไทม์ของการดื่มกาแฟสำหรับกลุ่มนี้ เพราะร่างกายตอบสนองต่อคาเฟอีนได้ดีที่สุด
เมื่อจุดพีคของมนุษย์สิงโตคือช่วงเช้าตรู่ เมื่อเข้าช่วงบ่ายพวกเขาจะเริ่มออกอาการแบตอ่อน หนังตาหย่อนได้ง่าย ๆ การงีบหลับพักสายตาสักครู่จะเป็นตัวช่วยให้กลับมาตื่นตัวได้อีกครั้ง ซึ่งธรรมชาติของคนประเภทนี้ต้องนอนให้ได้วันละ 8 ชั่วโมง เพื่อให้มีพลังเพียงพอสำหรับเช้าวันต่อไป ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเข้านอนเวลา 21:00 และตื่นในเวลา 05:30 ถือเป็นเวลาเหมาะสมสำหรับคนกลุ่มสิงโต
Tips สำหรับการใช้ชีวิตแบบสิงโต
รู้หรือไม่ โลมาเป็นสัตว์ที่ใช้สมองครึ่งซีกในการนอนหลับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้มันยังคงตื่นตัวจากผู้ล่าได้ตลอด 24 ชั่วโมง ครอนอไทป์แบบโลมามีแนวโน้มวิตกกังวลสูงในช่วงกลางคืน ทำให้การนอนหลับสนิทเป็นเรื่องยากสำหรับคนในกลุ่มนี้ หรือมีภาวะหลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดคืน
ตามธรรมชาติของคนกลุ่มโลมาจะตื่นตัวที่สุดในช่วงบ่ายของวันเป็นต้นไป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพฤติกรรมการนอนไม่เพียงพอในแต่ละคืนด้วย และกว่าหนังตาจะเริ่มหย่อนก็ปาเข้าไปดึกดื่น โดยช่วงเวลาเข้านอนของโลมาที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำจะอยู่ที่เวลาเที่ยงคืน หรือ 00:00
จากพฤติกรรมการนอนหลับไม่สนิท หรือการหลับยากในตอนกลางคืน ทำให้มนุษย์โลมามักประสบปัญหาอ่อนเพลียสะสม มักผล็อยหลับไปไม่รู้ตัวในระหว่างวัน ทำให้กลายเป็นคนขี้เกียจในสายตาเพื่อนร่วมงาน คนกลุ่มนี้จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ก่อนเวลาเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง และหมั่นออกกำลังกายคลายกล้ามเนื้อบ้าง เพื่อช่วยให้หลับง่ายขึ้น
Tips สำหรับการใช้ชีวิตแบบโลมา
คนในกลุ่มหมีพบเห็นได้มากที่สุด คิดเป็นจำนวน 50% ของกลุ่มประชากร การนอนหลับหรือตื่นของคนกลุ่มนี้เป็นไปตามวัฏจักรสุริยะ (Solar cycle) คือ ตื่นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น และหลับเมื่อพระอาทิตย์ตก ไม่ค่อยมีปัญหากับการนอนหรือเท่าไหร่ กลับกันเป็นพวกที่หลับลึกเสียด้วย
บางครั้งคนกลุ่มนี้อาจตื่นเช้าแล้วรู้สึกเพลียอยู่บ้าง เพราะเวลาตื่นตัวที่สุด คือช่วงสาย และจะมีพลังงานเหลือเฟือไปจนถึงเย็น ตั้งแต่เวลา 11:00 - 18:00 วงจรของคนกลุ่มหมีเป็นไปตามเวลามาตรฐานทั่วไป คือมักง่วงและอ่อนเพลียในตอนกลางวัน โดยเฉพาะหลังมื้อกลางวัน และเวลาหกโมงเย็นคือเวลาสำหรับอาหารเย็น
เวลาเข้านอนตามธรรมชาติของกลุ่มนี้คือเวลาสองทุ่ม ซึ่งกลุ่มหมีอาจจะเริ่มรู้สึกง่วงนอนบ้างแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้พวกเขาหลับได้ เพราะสิ่งดึงดูดใจมากมาย อย่างซีรีส์ที่ดูค้างไว้ ทำให้ส่วนมากพวกเขาจะเข้านอนประมาณ 4 ทุ่ม
Tips สำหรับการใช้ชีวิตแบบหมี
เรียกว่ายิ่งดึก ยิ่งคึก สำหรับคนกลุ่มนี้ กลุ่มหมาป่ามักมีพฤติกรรมนอนดึกเป็นกิจวัตร ในขณะเดียวกันก็ไม่มีปัญหากับการแงะร่างออกจากเตียงก่อน 9 โมงเช้า แถมยังตื่นได้เต็มตาไม่รู้สึกอ่อนเพลียอีกด้วย
ช่วงเวลาตื่นตัวที่สุดของคนในกลุ่มนี้ แบ่งได้สองเวลา คือ ช่วงเช้าถึงเที่ยงวัน หรือ 10:00-12:00 และอีกช่วงคือหลัง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป ด้วยวงจรของที่ขัดกับตารางชีวิตของคนทั่วไป การวางแผนการทำงานให้รอบคอบ และการถนอมสุขภาพร่างกายของตนเองจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยสำหรับคนกลุ่มนี้
อ้างอิงจาก Psycology Today คนกลุ่มครอนอไทป์หมาป่ามีความเสี่ยงสูงต่อภาวะ Social Jet Lag หรือ อาการง่วงซึม อ่อนเพลียในที่ทำงาน อันเกิดจากการทำงานผิดเวลาไปจากนาฬิกาชีวิตของตัวเอง และอาจส่งผลไปถึงสุขภาพจิตและร่างกายในระยะยาวได้อีกด้วย
Tips สำหรับการใช้ชีวิตแบบหมาป่า
เมื่อได้รู้จักกับครอนอไทป์แต่ละแบบไปแล้ว เราหวังว่าจะเป็นตัวช่วยในการจัดสรรตารางชีวิตในแต่ละวันของเพื่อน ๆ ได้มากขึ้น แต่ถ้าหากใครยังหาครอทอไทป์ของตัวเองไมเจอ อาจเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ "นาฬิกาชีวิต" เพื่อรู้จักกับร่างกายตัวเองให้มากขึ้น ได้ที่ รายการ สูงวัยวาไรตี้ ทางเว็บไซต์ ALTV <คลิก
ที่มา: The power of when Psycology Today