“ห้องเรียน” ในความทรงจำเก่า ๆ เรามักนึกถึงบรรยากาศในห้องสี่เหลี่ยมที่ต้องนั่งโต๊ะเป็นแถว จ้องมองกระดานดำที่มีคุณครูยืนอยู่ข้างหน้า และการท่องจำตำราเป็นนกแก้วนกขุนทอง สิ่งแวดล้อมในการเรียนแต่ก่อนอาจ “จำเจ” ทำให้ผู้เรียน “ขาดทักษะและแรงจูงใจ” ที่จะเรียนรู้
พอล คอลลาร์ด (Paul Collard) ผู้ก่อตั้ง Creativity, Culture and Education (CCE) องค์กรที่มุ่งพัฒนาด้านความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน กล่าวไว้ว่า การที่เด็กจะมีความคิดสร้างสรรค์ได้นั้น ต้องมี 5 ลักษณะนิสัยโดยพื้นฐาน ได้แก่
เมื่อรวมพฤติกรรมเหล่านี้เข้าด้วยกัน จึงเกิดนิยามของคำว่า “โรงเรียนสร้างสรรค์” ซึ่งเป็นคุณสมบัติแรกที่สถานศึกษาควรมี
ในศตวรรษที่ 21 สถาปัตยกรรมและการออกแบบห้องเรียนมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างมาก โรงเรียนสมัยใหม่มากมายหันมาปรับเปลี่ยน “สภาพแวดล้อม” ให้น่าเรียนมากขึ้น สีสัน, แสงธรรมชาติ, ความยืดหยุ่นของพื้นที่ และการมีส่วนร่วมในสังคม สามารถพัฒนาความฉลาดด้าน IQ และ EQ ของเด็กได้เต็มที่ ดังนั้น ลืมห้องเรียนในความทรงจำเก่า ๆ ไปเสีย เพราะ ALTV จะพาทุกคนไปส่องไอเดียโรงเรียนสุดเจ๋งของแต่ละประเทศ ที่บรรยากาศดี และมีการเรียนการสอนสุดสร้างสรรค์จนต้องให้ A+ ไปเลย
จุดเริ่มต้น: จากความคิดริเริ่มของสถาปนิกชาวญี่ปุ่นชื่อ คิคุมะ วาตานาเบะ (Kikuma Watanabe) แห่งสตูดิโอ D Environmental Design System Laboratory มีเป้าหมายเพื่อช่วยบรรเทาความยากจนในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ติดกับชายแดนพม่า คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพและเด็กกำพร้าที่ไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้
หลังจากสำรวจพื้นที่แล้วจึงร่วมกับองค์กรการกุศล Glorious Life มอบอนาคตที่ดีให้กับผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ ด้วยการสร้างอาคารเพื่อการเรียนรู้ขึ้นมาและยังเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการออกแบบโรงเรียนในฝันของตัวเอ ห้องเรียน “ลอยฟ้า” ที่หนูอยากได้ มาจากจินตนาการสุดบรรเจิดของหนูน้อยคนหนึ่งที่วาดภาพโรงเรียนในฝันเป็นภาพ “เรือลอยฟ้า” วาตานาเบะใช้ไอเดียนี้มาดัดแปลงและออกแบบเชิงสถาปัตย์ กลายเป็นอาคารเรียนสุดแปลกตา
เด็ก ๆ กำลังเล่นดินโคลนที่เตรียมไว้สำหรับทำ "ถุงดิน" อย่างสนุกสนาน ที่มา: designboom.com
จุดเด่น: ได้สัมผัสพลังงานของดินและลม
ตัวอาคารมีองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ฐานอาคารชั้นล่างเป็นทรงโดมสร้างจาก “ถุงดิน” (earth bag) ฝีมือของเด็ก ๆ ที่ช่วยกันบรรจุ และอีกส่วนที่เป็นหลังคาทรงจั่ว มีโถงสูงโปร่ง ใช้เหล็กน้ำหนักเบามาทำเป็นโครง ปูด้วยไม้ไผ่และมุงหลังคาหญ้าแฝก หากลองจินตนาการ ฐานโดมเปรียบเสมือนแท่นปล่อยเรือที่กักเก็บพลังงานจากพื้นดินเอาไว้ และอาคารเหล็กด้านบนก็คือ “เรือสายรุ้ง” ที่พร้อมพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า (Rainbow Ark Soaring in the Sky)
Classroom of earth ที่ใช้สำหรับสวดมนต์ (ภาพบน) และ Classroom of wind มุมพักผ่อนของเด็ก ๆ ที่มา: designboom.com
บรรยากาศที่โปร่ง โล่ง สบาย จะมอบความรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยให้แก่เด็ก ๆ ส่วนที่เป็นโดมถูกใช้เป็นห้องสวดมนต์และห้องเรียนเรียกว่า “Classroom of earth” ในขณะที่ชั้นลอยด้านบนเป็นห้องพระเชื่อมกับโซนกิจกรรมที่เรียกว่า “Classroom of wind” เมื่อมีลมพัดผ่านหลังคามุงจากทำให้รู้สึกเหมือนได้อยู่ในเรือลอยฟ้า เด็ก ๆ จะได้สนุกกับการเรียน เล่น และสวดมนต์ทุกวัน
นับตั้งแต่สร้างเสร็จ โรงเรียนสายรุ้งกลายเป็นสถานที่แห่งความสำเร็จในชุมชน จุดประกายความฝันนำพาเด็ก ๆ ไปสู่อนาคตที่สดใส
จุดเริ่มต้น: อาคารชั้นเดียวรูปวงรีแห่งนี้เรียกว่า “Ring Around a Tree” ก่อสร้างขึ้นรอบ ๆ ต้นเคยากิขนาดใหญ่ที่ถูกอนุรักษ์ไว้ในรั้วโรงเรียน เป็นผลงานการออกแบบของทีมสถาปนิกจากสตูดิโอ Tezuka Architects เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีพื้นที่สันทนาการและทำลายกำแพงข้อจำกัดต่าง ๆ ที่โรงเรียนทั่วไปมักไม่เอื้อต่อการเรียนรู้
โรงเรียนอนุบาล Fuji Yochienถูกออกแบบให้เป็นวงกลมที่สามารถวิ่งเล่นได้ตลอด โดยเน้นสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ไร้กำแพงกั้นและให้เด็กได้รู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญของโรงเรียน
จุดเด่น: อะไรก็เป็นของเล่นได้หมด
ผู้ออกแบบแอบใส่ความสนุกไว้ในแต่ละจุดเพื่อเอาใจหนูน้อยทั้งหลาย ตั้งแต่หลังคาวงกลมที่กลายเป็นสนามเด็กเล่นหลักของโรงเรียน ทำให้นักเรียนมีเส้นทางวิ่งเล่น กระโดดโลดเต้นได้ไม่รู้จบ ถัดมาเป็นบันไดที่ใส่กิมมิกน่ารักเอาไว้ คือการเสริมเนินดินเล็ก ๆ ไว้ด้านล่างของบันไดที่ทอดลงมาจากหลังคา ถือเป็นเคล็ดลับทำให้ให้บันไดสั้นลง
เด็ก ๆ สามารถสไลด์ลงมาห้องเรียนได้ด้วยความสนุกสนาน ในส่วนของราวจับแนวตั้งถูกออกแบบให้มีความห่าง 100 มิลลิเมตร สามารถสอดขาแกว่งไปมาได้อย่างอิสระ รอบ ๆ ต้นไม้มีตาข่ายเหมือนเปลญวนที่หนาแน่น จะกระโดดหรือเขย่าก็ทำได้เต็มที่ ช่องหน้าต่างที่อยู่ด้านบนหลังคาไม่ได้แค่ทำหน้าที่รับแสงมาสู่ห้องเรียนได้อย่างเดียว แต่มีไว้เพื่อให้เด็กได้สอดส่องกิจกรรมภายในห้องเรียน มีเด็กหลายคนชอบมาเล่นจ๊ะเอ๋กันหรือไม่ก็คอยดูว่า “เพื่อน ๆ กำลังทำอะไรอยู่น้า?”
สภาพแวดล้อมในรูปแบบนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ ความสงบ และสมาธิ รวมถึงปรับเปลี่ยนนิสัยของเด็กที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรม ส่งเสริมให้เกิดความเป็นอิสระและการเข้าสังคม
จุดเริ่มต้น: จอห์นและซินเธีย ฮาร์ดีส์ เจ้าของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับชาวแคนาดา มองว่าการเรียนการสอนที่เข้มงวดจะทำให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน จึงตัดสินใจสร้างโรงเรียนนี้ในบาหลีท่ามกลางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อสร้างประสบการณ์การการเรียนรู้ที่ผสมผสานจิตวิญญาณ ร่างกาย และอารมณ์เข้าด้วยกัน
แนวคิด "Three Springs" เป็นแรงขับในการพัฒนาชุมชนเพื่อการศึกษา อีกทั้งยังได้แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง "Inconvenient Truth" ปรากฏการณ์ช็อกโลกที่เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนอันเกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ โดยมุ่งหวังให้นักเรียนที่จบออกไปมีหัวใจรักษ์โลก IBUKU คือทีมนักออกแบบ สถาปนิก และวิศวกรรุ่นเยาว์ผู้ที่ค้นหาวิธีใหม่ ๆ ในการสร้างสถาปัตยกรรมด้วยไม้ไผ่ในบาหลี ถูกมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการนี้
จุดเด่น: ทุกเรื่องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การออกแบบโรงเรียนสีเขียวแห่งนี้ คำนึงถึงหลากหลายของระบบนิเวศน์และความยั่งยืนเป็นหลัก สถาปัตยกรรมต่างๆ จึงสร้างด้วยวัสดุหมุนเวียนจากธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ หญ้า ดิน และหินภูเขาไฟ ห้องเรียนแต่ละห้อง “ไร้กำแพง” เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติ โรงยิม สำนักงาน และร้านกาแฟ ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เช่น เครื่องกำเนิดกระแสน้ำวนพลังน้ำและแผงโซลาร์เซลล์ การใช้รถ BioBus จากพลังงานจากน้ำมันที่ใช้ปรุงอาหาร โรงเรียนสีเขียวแห่งนี้สามารถสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 4 ตันต่อปี และโหวตให้เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก
แม้จะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่หลักสูตรการเรียนการสอนก็ทันสมัยและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ใคร ในห้องเรียนมีเครื่องพิมพ์สามมิติและเครื่องเลเซอร์เพื่อให้นักเรียนประดิษฐ์สิ่งของ สร้างโมเดลจำลองได้ นอกจากนี้นักเรียนยังได้เป็นเกษตรกรรุ่นเยาว์และทำอาหารจากพืชผักที่ปลูกภายในโรงเรียน
ยินดีต้อนรับสู่โรงเรียนสีเขียวแห่งแอฟริกาใต้ : ภาพจาก greenschoolsa.co.za
โรงเรียนสีเขียวไม่ได้เป็นเพียงโรงเรียน แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวระดับโลก เด็กที่มีจิตใจเข้มแข็งวันหนึ่งพวกเขาจะกลายเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในอนาคต
จุดเริ่มต้น: เมื่ออาคารเก่าแก่กว่า 80 ปี ถูกจับมาแปลงโฉมใหม่ให้มีชีวิตชีวา กลายเป็นโรงเรียนอนุบาลท้องถิ่น Ecole Maternelle Pajol ที่มีเอกลักษณ์ ผ่านจินตนาการของบริษัทสถาปัตย์ Palatre & Leclére ด้วยการใส่สีสันสดใส การจัดวางอย่างมีศิลปะ มอบความสุขในทุกตารางนิ้ว โดยได้แรงบันดาลใจจาก “สีรุ้ง” ในขณะที่โครงสร้างพื้นฐานของอาคารยังคงรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ไว้ เพื่อให้อดีตและปัจจุบันได้อยู่ด้วยกันอย่างลงตัว
จุดเด่น: สายรุ้งและสีสันที่สะดุดตา
“รุ้ง” ได้กลายเป็นหัวใจหลักของโครงการ เพราะทำให้เด็ก ๆ หลงใหล และเชื่อมโยงกับความสุข บอกเล่าเรื่องราวบรรยากาศดีหลังฝนตก แต่ละระดับของรุ้งถูกหยิบมาใช้อย่างมีความหมาย เช่น ประตูห้องเป็นสีแดงแสดงถึงความเร่งด่วน ผนังห้องเรียนเป็นสีขาวเพื่อให้เด็ก ๆ ได้แสดงออกอย่างเต็มที่
“สี” คือภาษาแรกที่เด็กใช้ ดังนั้นสีที่ “สด” ทุกพื้นที่จะช่วย “จุดประกายจินตนาการ” ให้กับน้อง ๆ หนู ๆ ทุกคนที่ได้เข้ามาเรียน เริ่มตั้งแต่ซุ้มประตูทางเข้าที่ถูกออกแบบให้เรียบง่ายมีเพียงรุ้งตัวน้อยพาดผ่าน เป็นการเชิญชวนเบา ๆ ก่อนจะพาทุกคนไปพบกับโลกแห่งจินตานาการด้านใน
ก้าวแรกที่เด็ก ๆ และผู้ปกครองได้สัมผัสก็รู้สึกถึงความสนุกสนานทันที ลานด้านหน้ามีเส้นสีรุ้งขนาดยักษ์ทอดยาวไปถึงตัวอาคาร ถัดมาด้านในถูกออกแบบให้เติมเต็มความคิดสร้างสรรค์ ทั้งห้องเรียน ห้องเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องสมุด และสุขา
โรงเรียนอนุบาล Ecole Maternelle Pajol เป็นส่วนหนึ่งของถนน Pajol ย่านเก่าแก่ในเขตที่ 18 ของกรุงปารีส ที่มีนโยบายการปรับปรุงเมืองครั้งใหญ่ การออกแบบโรงเรียนอนุบาลนั้นเต็มไปด้วยการคิดบวกและความสุขที่ส่งถึงเด็ก ๆ
Ørestad Gymnasium หรือโรงเรียน Ørestad High School มีชื่อเสียงด้านสถาปัตยกรรมล้ำสมัยที่ไม่เหมือนโรงเรียนอื่นในประเทศ มีสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างที่ให้อิสระแก่นักเรียนได้ทำสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่ของพวกเขาแทนที่จะเป็นห้องเรียนสี่เหลี่ยมแบบเดิม ๆ
จุดเริ่มต้น: แรกเริ่มเดิมที Ørestad Gymnasium เคยเป็นส่วนหนึ่งของคณะมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ต่อมาปี 2007 ได้เปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมัธยมที่ไม่มีห้องเรียนแบบตายตัว ต้องการเน้นให้นักเรียนมีความรู้และประสบการณ์ที่สามารถรับมือกับอนาคตได้ ทั้งในโลกแห่งความเป็นจริง การทำงาน หรือในสถานการณ์อื่น ๆ โดยการเรียนการสอนจะฝึกให้เด็กเป็น “ผู้ริเริ่ม” สร้างสรรค์ เปลี่ยนแปลง มากกว่าการเป็นเพียง “ผู้มีความรู้” เพียงอย่างเดียว
จุดเด่น: บันไดวนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีไว้แค่ขึ้นและลง
บันได้หลักของตัวอาคารเชื่อมโยงไปยังโซนแห่งการเรียนรู้ทรงกลมและมารยาททางสังคม ตัวอาคารที่เปิดโล่งสร้างความรู้สึกว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่นักเรียน แม้จะไม่มีผนังกั้นใด ๆ แต่ก็แทบไม่มีเสียงรบกวนเลย เพราะนักเรียนทุกคนต่างรู้ดีว่าต้องมีความ“เกรงใจผู้อื่น” โดยที่ยังสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ อีกทั้งการเรียนการสอนยังเน้นให้นักเรียนได้แก้ปัญหาในสถานการณ์ที่ “สมจริง” ไม่ว่าจะเป็นการเรียนการสอนแบบกลุ่มตามหัวข้อต่าง ๆ , การสอนแบบตัวต่อตัวผ่าน เครื่อง VR สุดล้ำ (Virtual Reality) และการเรียนการสอนที่เรียนรู้จากชีวิตจริง โดยแขกรับเชิญนอกโรงเรียน
หลักสูตรด้านการศึกษาที่ Ørestad High School เน้นที่สุดก็คือ สาขาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ นักเรียนสามารถเลือกสิ่งที่อยากเรียนเองได้เพื่อนำไปต่อยอดอาชีพในอนาคต
สำหรับคนที่อยากเห็นบรรยากาศจริง สามารถเข้ามาทัวร์โรงเรียนได้ที่นี่> คลิก
"ห้องเรียนไร้กำแพง" เป็นการเปิดกว้างและให้โอกาสนักเรียนได้ใช้ทักษะและความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่ปิดกั้นจินตนาการของพวกเขา อีกทั้งยังลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งในจังหวัดชัยภูมิของไทยเองก็มีครูคนหนึ่งที่นำแนวคิดนี้มาปรับการเรียนการสอนแก่ลูกศิษย์ของตัวเอง หากอยากเรียนรู้วิธีสอนของคุณครูสุดเจ๋ง สามารถติดตามได้ใน COOL CRU จารย์เจ๋ง
ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ: สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) momscream.com, archilovers.com, archdaily.com, ideas.ted.com, greenschool.org