ปัจจุบัน “สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ” ถูกออกแบบด้วยแนวคิดใหม่กลายเป็น “สวนป่า” นอกจากจะใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้ว ยังเป็น "มากกว่าสวนสาธารณะ" ที่เปิดกว้างการเรียนรู้สำหรับทุกเพศ ทุกวัย สวนสาธารณะใหญ่ ๆ กลางกรุงที่หลายคนคุ้ยเคย อย่าง สวนเบญจกิติ, สวนลุมฯ, สวนรถไฟ, และสวนหลวงร.9 ถูกจัดเป็นสัดเป็นส่วน ประกอบด้วยอุทยาน, สวนพฤกษศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ และหอศิลป์ แต่ละแห่งก็มี “ของดี” ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน มาดูกันว่า สวนป่ากลางกรุงที่ว่าจะมีอะไรซ่อนอยู่บ้าง
ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่หลากหลายเป็นความพิเศษของสวนเบญจกิติ ด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ 450 ไร่ แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่, ไม้ชุ่มน้ำ, พรรณไม้แปลกหายาก และพืชดั้งเดิมในท้องถิ่น กว่า 300 ชนิดและกลายเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต มีข้อมูลว่าพบนกจำนวนมากกว่า 49 สายพันธุ์อพยพมาอยู่ร่วมกันในสวนป่าแห่งนี้
สำหรับคนเมืองที่ต้องการดูนกส่องสัตว์ตามธรรมชาติ อาจต้องออกเดินทางไปไกลถึงชานเมืองหรือต่างจังหวัดเพื่อศึกษา สวนเบญจิกิติถูกใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมของกลุ่มนักอนุรักษ์ทุกรุ่น เพื่อศึกษาชีวิตของสัตว์น้อยใหญ่ที่ออกมาโชว์ตัว โดยเฉพาะ “นกเค้าจุด” เป็นนกซุป'ตาร์ที่โด่งดังในโลกโซเชียลจากไลฟ์สดของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซึ่งอยู่กันเป็นครอบครัวบนต้นโพธิ์ใหญ่กลางสวน บรรดานักดูนกต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้ามาสวนนี้แล้วไม่ได้ดูเจ้านกเค้าจุด ถือว่ามาไม่ถึง!
“นกเค้าจุด” (Spotted owlet) นกฮูกชนิดหนึ่งเป็นญาติกับ “นกเค้าแมว” ชอบกินแมลงปีกแข็ง และหนู จึงมีส่วนสำคัญช่วยกำจัดศัตรูพืช สามารถปรับตัวเก่งในทุกสภาพแวดล้อม ตั้งแต่ภูเขาสูงจนถึงทะเลทราย ในเมืองจะพบตามต้นไม้ใหญ่หรือตามสวนสาธารณะ และเป็นมิตรกับคน
นอกจากนี้นักสำรวจยังพบ “นกตีทอง” (Coppersmith Barbet) เจ้าของเสียงร้องที่เป็นเอกลักษณ์ คล้ายกับเสียงของช่างขณะตีทองแดง ฉายา “ราชินีนกเมือง” เพราะมีขนสีแดงตรงหน้าผากคล้ายราชินีที่ใส่มงกุฏ ส่วนลำตัวก็มีขนสีเขียวและสีเหลือง ต่อมาพบ “นกตะขาบทุ่ง” (Indochinese Roller) ฉายา “เทพบุตรสายไฟฟ้า” เวลากระพือปีก ขนสีฟ้าจะสะท้อนแสงแดดเป็นประกาย นกที่หาดูยากในเมืองก็ออกมาอวดโฉมด้วยเช่นกัน อย่างเช่น นกกินปลี (Sunbird), นกอีแพรดแถบอกดำ (Malaysian Pied Fantail), นกยางเปีย (Little Egret), นกกระติ๊ดขี้หมู (Scaly-breasted Munia)
หากเดินสำรวจในตอนกลางคืนคุณจะได้พบกับสัตว์นักล่ารัตติกาล อย่างนกเค้าและค้างคาว รวมถึงสัตว์ขี้อายที่ซ่อนตัวอยู่ตามต้นไม้และแหล่งน้ำ เช่น จิ้งจกหางแบน, แมงมุมเขี้ยวยาว, อึ่งอ่างบ้าน และปาดบ้าน
สวนป่าเบญจกิติ ถูกสร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. 2535 หรือสิบกว่าปีก่อน บนพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบเก่า ภายหลังถูกพัฒนาและปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ระดมไอเดียการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญหลายแขนง ทั้งภูมิสถาปนิก, สถาปนิก, สถาปนิกชุมชน, อาจารย์, นักผังเมือง, วนเกษตร และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยแนวคิด “สวนน้ำผสมผสานกับสวนป่า” ที่ทำให้ทุกระบบเชื่อมโยงกัน โดยให้ความสำคัญกับ “พื้นที่ป่าชุ่มน้ำ” (Wetland)
ที่มา: เพจ สวนป่าเบญจกิติ
โครงการนี้จึงถือว่าเป็น “ต้นแบบ” ของสวนสาธารณะเชิงนิเวศเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ, บึงขนาดใหญ่, เส้นทางสำหรับเดิน วิ่ง และจักรยาน, เส้นทางศึกษาธรรมชาติ, skywalk อีกทั้งยังมีทางเชื่อมต่อไปยังสะพานเขียวใกล้สวนลุมพินี ล่าสุดสวนป่าเบญจกิติได้กลายเป็น “แลนด์มาร์คแห่งใหม่” สำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และใช้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์
สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น.
ลานจอดรถ ช่วงเช้าเปิด 05.00-09.00 น. และช่วงบ่ายจะเปิด 16.00-21.00 น.
Facebook: สวนเบญจกิติ (คลิก)
Google map: คลิก
ของดีสวนสวนลุมพินี นอกเหนือจากการเข้ามาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพและนั่งดื่มด่ำบรรยากาศยามเย็นแล้ว สำหรับคนที่ชอบความเงียบสงบ ยังมีสถานที่หนึ่งซึ่งหลายคนอาจยังไม่เคยเข้าไปใช้บริการ นั่นก็คือ ห้องสมุดประชาชน หรือ ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี ตั้งอยู่ภายในอาคารสีเหลืองอ่อนที่เห็นโดดเด่นกลางสวน
อาคารห้องสมุดประชาชนที่ซ่อนอยู่ในสวนลุม
ที่มา: thailibrary.in.th
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี (Suan Lumpini discovery learning library) ด้านในมีมุมอ่านหนังสือหลายมุมให้เลือก การออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจาก “แมลงเต่าทอง” เจ้าจุดสีแดงสามารถกระตุ้นการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี ที่นี่มีหนังสือมากมายทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
ที่มา: thailibrary.in.th
รวมทั้งบริการคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยให้สืบค้นข้อมูลผ่านสารานุกรมออนไลน์ Microsoft Encarta มีโซนเพื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ไม่ควรพลาด เช่น
ที่มา: thailibrary.in.th
พลังแห่ง "ความเงียบ" ทำให้คุณมีสมาธิ เกิดจินตนาการและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ท่านติช นัท ฮันห์ ผู้เขียนหนังสือ Silence กล่าวไว้ว่า ความเงียบ คือประตูบานเเรกสู่ความสงบและสันติ ดังนั้น ห้องสมุดที่เงียบและสงบ จึงเหมาะเป็นสถานที่สำหรับจุดประกายการเรียนรู้และฝึกสมาธิ
ผู้ปกครองที่มาออกกำลังกายสามารถพาเด็ก ๆ มาเปิดโลกการเรียนรู้ที่นี่ได้ หากต้องการยืมหนังสือหรือสื่อมัลติมีเดียกลับบ้าน ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียวสมัครสมาชิก 50 บาทต่อปี
ที่มา: thailibrary.in.th
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี คือห้องสมุดประชาชนแห่งแรกที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี และเป็น 1 ในห้องสมุดประชาชนจากทั้งหมด 36 แห่ง ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ใน สวนลุมพินี “สวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย” เดิมเป็นที่ดินส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 6 จํานวน 360 ไร่ เปิดให้ประชาชนได้ใช้ในปีพ.ศ. 2468 โดยแรกเริ่มมาจากโครงการสร้าง "สยามรัฐพิพิธภัณฑ์" เอาไว้จัดงานแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของคนไทยทั่วทุกภาค เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสงครามครั้งที่ 1 ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน และในปี 2568 สวนลุมฯ จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี เขตปทุมวัน
เปิดให้บริการทุกวันอังคาร – เสาร์ เวลา 08.30 – 19.30 น. และวันอาทิตย์ 09:00 – 17:00 น.
ปิดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
Facebook: ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี (คลิก)
Google map: คลิก
สำหรับ สวนลุมพินี เปิดให้บริการทุกวัน และขยายเวลาบริการตั้งแต่ 04.30 - 22.00 น.
ความพิเศษภายในสวนรถไฟ ไม่ได้มีแค่ลานกว้าง ๆ สำหรับมาปิกนิกพักผ่อน แต่ยังมีศูนย์การเรียนรู้เรื่องผีเสื้อและแมลง นั่นคือ “อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ” เป็นแหล่งศึกษา ค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับวงจรชีวิต (Life cycle), ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity), ความสัมพันธ์กับระบบนิเวศ (Ecosystem) ด้านในอุทยานมีโดมสวนป่าเล็ก ๆ เราจะเห็นผีเสื้อแสนสวยหลากสายพันธุ์บินโฉบไปมา เหมาะมากกับการมาฝึกสกิลความไวสำหรับการถ่ายรูปที่นี่ เพราะบางตัวหยุดอยู่นิ่ง ๆ เพียงไม่กี่วิ อาจต้องใช้เทคนิคเฉพาะตัวอย่างเพื่อให้ได้ภาพคมชัดที่สุด ดังนั้นภาพถ่ายผีเสื้อที่มีปีกสีสันสดใสตัดกับสีเขียวของใบไม้จึงถือว่าเป็นภาพที่สวยงามและหาดูได้ยาก
ผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู (The Common Rose)
อย่างเจ้า “ผีเสื้อหางตุ้มจุดชมพู” (The Common Rose) ถือว่าเป็นตัวปราบเซียน มีนิสัยชอบบินไปเยี่ยมดอกนั้นที ดอกนี้ที ตื่นเช้ามากว่าผีเสื้อตัวอื่นและบินอยู่ตลอดวันจนถึงพลบค่ำ ผีเสื้อพันธุ์นี้มีลักษณะการบินที่ “แปลก” ด้วยการใช้ “ส่วนหาง” ในการบังคับเลี้ยว สังเกตได้ง่ายที่สุด ตอนที่กำลังบินวนอยู่เหนือดอกไม้เพื่อจิบน้ำหวาน โดยปีกส่วนหน้าจะขยับเบา ๆ เพื่อให้ตัวลอยขึ้น ก่อนที่จะใช้ส่วนหางบังคับทิศทางและเปลี่ยนตำแหน่ง นอกจากประโยชน์ด้านการบินแล้ว ส่วนหางยังเอาไว้หลอกศัตรูเป็นหลัก ทำให้ผู้โจมตีสับสนกับตำแหน่งส่วนหัว จนบางครั้งถูกโจมตีจนหางแหว่ง
ถัดมาเป็นพี่ใหญ่ประจำอุทยาน อย่าง ผีเสื้อถุงทองธรรมดา (Golden birdwing) สายพันธุ์ที่อยู่ในตระกูลผีเสื้อที่มีปีกใหญ่ที่สุดในโลก เวลากางปีกจะมีขนาด 10 - 14 เซนติเมตร พบมากทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนตุลาคม จุดเด่น คือปีคู่หน้าสีดำ ปีกคู่หลังสีเหลืองสดใส ตัวเมียจะขนาดใหญ่กว่าตัวผู้และมีจุดสีแดงเล็ก ๆ ที่ทรวงอก มีนิสัยชอบบินที่สูง ไม่ค่อยลงเกาะบนพื้นดิน และหวงบ้าน ตอนเป็นตัวหนอนก็เอาตัวรอดได้ดี เพราะสามารถปล่อยกลิ่นเหม็นไล่ศัตรู และมีพิษกับสัตว์ที่จับกินเป็นอาหาร
ผีเสื้อใบไม้ใหญ่อินเดีย ที่มา: adayoffthailand
หากจะเฟ้นหาผีเสื้อที่เป็น “แบบนิ่ง” สำหรับถ่ายภาพได้ดีที่สุด เห็นทีต้องยกให้ “ผีเสื้อใบไม้ใหญ่อินเดีย” หรือ Orange Oakleaf สุดยอดนักพรางตัวในผืนป่า เพจ อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร ยังแอบแซวว่า “นิ่งเงียบใครจะเทียบพี่เขาได้🦋🦋ยืนหนึ่งในฤดูกาล 🦋🦋” โดยจุดเด่นคือ ปีกด้านนอกคล้ายใบไม้แห้ง เอาไว้อำพรางตัวตามธรรมชาติได้อย่างเนียบเนียน เวลากางปีกก็มีสีสันสวยงามไม่แพ้ผีเสื้อตัวอื่น มักพบในช่วงหน้าหนาวตลอดเดือนธันวาคม ชอบดูดน้ำหวานผลไม้ที่สุกงอมและดื่มน้ำจากต้นไม้ เวลาตกอยู่ในอันตราย เจ้าผีเสื้อใบไม้ใหญ่อินเดีย จะบินซิกแซกแล้วทิ้งตัวลงไปในกองใบไม้ จากนั้นก็หุบปีกและอยู่นิ่ง ๆ จนนกหาไม่เจอ
ใครที่มาเที่ยวตลาดนัดจตุจักร สามารถแวะเวียนมาลับฝีมือการถ่ายภาพและชมความมหัศจรรย์ของผีเสื้อและแมลงได้ฟรี! เจ้าหน้าที่แนะนำว่าให้มา “ช่วงเช้าหรือช่วงเย็น” ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผีเสื้อออกมาหากินพอดี
อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในสวนวชิรเบญจทัศ หรือที่คุ้นเคยกันดีในชื่อ “สวนรถไฟ" เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติกลางเมืองใหญ่ และเป็นหนึ่งในกิจกรรมของ "อุทยานการเรียนรู้จตุจักร" โดยเชื่อมโยงสวนสาธารณะทั้ง 3 แห่งเข้าด้วยกัน ได้แก่ สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ)
อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพฯ เขตจตุจักร
เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 08.30 -16.30 น.
หยุดทุกวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เข้าฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
🌟สำหรับการเข้าชมเป็นกลุ่ม ต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะล่วงหน้าประมาณ 5 - 7 วันทำการ
Facebook: อุทยานผีเสื้อและแมลงกรุงเทพมหานคร (คลิก)
ขึ้นชื่อว่า “สวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุด” ในกรุงเทพมหานคร คงต้องยกให้ สวนหลวง ร.9 สวนสาธารณะที่รวบรวมพรรณไม้จากนานาชาติไว้มากที่สุด และพืชมหัศจรรย์ที่ไม่ควรพลาด คือ ต้นปีศาจทะเลทราย หรือ เวลวิชเซีย พืชที่อายุยืนที่สุดในโลกและหาดูได้ยากมากในประเทศไทย ซ่อนอยู่ใน “อาคารพันธุ์ไม้ทะเลทราย” หรือ “จิโอเดสิกโดม” สวนพันธุ์ไม้ทะเลทรายที่สร้างโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษากระบองเพชรและไม้อวบน้ำต่าง ๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ต้นปีศาจทะเลทราย (Welwitschia mirabilis) พืชดึกดำบรรพ์สุดแปลกและอึดที่สุดในอาณาจักรพืช ได้รับฉายาว่าเป็น “ฟอสซิลที่มีชีวิต” เพราะตลอดชีวิตของพืชชนิดนี้ไม่มีวิวัฒนาการหรือเปลี่ยนรูปร่างใด ๆ โดยมีใบงอกออกมาจากลำต้นเพียง “สองใบ” เท่านั้น ชาวแอฟริกันเรียกพืชชนิดนี้ว่า “tweeblaarkanniedood” แปลว่า “ใบสองใบที่ไม่มีวันตาย” ว่ากันว่าสืบพันธุ์มาตั้งแต่ยุคครีเทเชียส หรือ ยุคที่อยู่ถัดจากยุคจูแรสซิกประมาณ 145.5 ± 4.0 ล้านปีก่อน โดยมีถิ่นกำเนิดในทะเลทรายนามิบ (Namib Desert) ใกล้ชายฝั่งทะเลครอบคลุมประเทศนามิเบียและแองโกลา ทวีปแอฟริกาใต้
ต้นปีศาจทะเลทรายยังคงเติบโตท่ามกลางทะเลทรายอันร้อนระอุ ที่มา: nytimes.com
ต้นปีศาจทะเลทรายมีความเก่งกาจหลายด้าน ส่วนใบและรากสามารถดูดซึมน้ำได้อย่างดีเยี่ยม โดย “ใบ” สามารถแผ่ออกไปไกลถึง 4 เมตรในการดูดซับน้ำค้างยามเช้าและน้ำฝน ส่วน “ราก” สามารถชอนไชหาแหล่งน้ำใต้พื้นทะเลทรายได้ลึกถึง 30 เมตร ไม่เพียงเท่านั้นในระดับจีโนมหรือมวลสารพันธุกรรมสุดวิเศษของต้นปีศาจทะเลทรายยังมีความยืดหยุด แข็งแรง และเจริญเติบโตได้ดี ภายใต้สภาวะที่ร้อนระอุสุดขีด ด้วยเหตุนี้มันจึงถูกขนานนามว่าเป็น “พืชที่อายุยืนที่สุดในโลก”
พืชชนิดนี้ถูกค้นพบครั้งแรกในปีค.ศ. 1860 โดย Frederic Welwitsch ที่มา: thelondondead.blogspot.com
แอนดรูว์ ลีตช์ (Andrew Leitch) นักพันธุศาสตร์พืชจากมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอน กล่าวว่า “พืชชนิดนี้สามารถอยู่ได้หลายพันปี และไม่เคยหยุดโต แต่ถ้ามันหยุดโต มันก็จะตาย” ซึ่งก็หมายความว่าตราบใดที่ต้นปีศาจทะเลทรายยังเติบโตเรื่อย ๆ ก็แทบจะเป็นอมตะ
ต้นปีศาจทะเลทรายที่ได้จากพันธุ์พ่อพันธุ์แม่ในสวนหลวง ร.9 ที่มา: Dressrosa Garden
และด้วยความสามารถของต้นปีศาจทะเลทรายนี้เองจึงดึงดูดให้นักวิทยาศาสตร์เริ่มศึกษา โดยเชื่อว่ามันอาจช่วยให้มนุษย์สามารถเพาะพันธุ์พืชให้แข็งแรงขึ้นและกระหายน้ำน้อยลง เป็นประโยชน์ด้านการเกษตรในอนาคต
เกร็ดน่ารู้: หลายคนสับสน คำว่า กระบองเพชร หรือ ตะบองเพชร แบบใดเรียกถูกต้องกันแน่ เปลื้อง ณ นคร นักวิชาการด้านภาษาไทย ได้ไขปริศนานี้เอาไว้ว่า ทั้งสองคำนี้เขียนถูกต้อง ไม่มีคำไหนผิด
สวนหลวง ร.9 เป็นสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ จัดสร้างเนื่องในโอกาส รัชกาลที่ 9 เจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมพรรณไม้ไว้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจำแนกพันธุ์ตามหลักอนุกรมวิธาน และนิเวศวิทยา มีทั้งพรรณไม้ของไทยและต่างประเทศ รวมถึงไม้หายากและสมุนไพร พร้อมสวนนานาชาติ เช่น สเปน ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น และอังกฤษ
สวนหลวง ร.9 เขตประเวศ
เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 - 19.00 น.
มีค่าบริการคนละ 10 บาท และค่าจอดรถ เริ่มต้นที่ 5 บาท
Website: www.suanluangrama9.or.th (คลิก)
ขอบคุณข้อมูล: readthecloud.co, thematter.co, www.thailibrary.in.th, กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์, สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร