ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
เสียดายไม่กล้าทิ้ง! “โรคชอบเก็บสะสมของ” ภัยเงียบที่วัยไหนก็เป็นได้
แชร์
ฟัง
ชอบ
เสียดายไม่กล้าทิ้ง! “โรคชอบเก็บสะสมของ” ภัยเงียบที่วัยไหนก็เป็นได้
21 ส.ค. 65 • 18.00 น. | 2,012 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

อันนั้นก็ไม่กล้าทิ้ง อันนี้ก็อยากเก็บ เมื่อการทิ้งบางสิ่งกลายเป็นเรื่องลำบากใจ จนสุดท้ายเลือกที่จะเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ จนทำให้สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยคับแคบ ไม่ถูกสุขอนามัย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ นี่อาจไม่ใช่เพียงลักษณะนิสัยส่วนตัว แต่เป็นสัญญาณของโรค ‘Hoarding Disorder’ หรือโรคชอบสะสมของก็เป็นได้

เสียดายไม่กล้าทิ้ง สัญญาณปัญหาสุขภาพจิต

ผู้ที่เข้าข่าย Hoarding Disoder (HD) หรือ 'โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ' มักมีอาการอยากเก็บสะสมข้าวของไว้มากเกินความจำเป็น ตัดใจทิ้งข้าวของไม่ลง หรือแยกแยะไม่ได้ว่าอะไรควรทิ้ง อะไรควรเก็บ โดยส่วนมากจะสะสมสิ่งของที่มีมูลค่าน้อยอย่าง ถุงพลาสติก ขวดน้ำ กระดาษ เครื่องใช้ที่ชำรุด พวกเขาจะรู้สึกว่า "ต้องเก็บไว้เผื่อใช้ในอนาคต" รู้ตัวอีกทีข้าวของต่าง ๆ ที่สะสมไว้ ก็กลายสภาพเป็นขยะรก ๆ ภายในบ้าน ไม่ถูกสุขอนามัย ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของตัวเองและคนรอบข้างในท้ายที่สุด

 

สัญญาณแรกของความผิดปกติในการเก็บสะสมของ เกิดขึ้นได้ในช่วงวัยรุ่น ตั้งแต่ 11 ปี ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อาจเริ่มจากการซื้อข้าวของที่ไม่จำเป็นเข้าบ้าน แล้วตอบตัวเองไม่ได้ว่าซื้อมาทำไม ในบางรายมักเก็บสิ่งของตามท้องถนนมาสะสมภายในบ้าน และเมื่ออายุเข้าวัยกลางคนอาการจะรุนแรงขึ้น

 

โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ พบมากในคนอายุ 60 ปี ขึ้นไป และกลุ่มคนที่มีประวัติป่วยด้วยโรคซึมเศร้าและวิตกกังวล โดยคนส่วนใหญ่ที่เผชิญกับโรคนี้ มักจะไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข หากไม่มีคนใกล้ชิดคอยสังเกตพฤติกรรม

5 สัญญาณ 'โรคชอบเก็บสะสมสิ่งของ'

  • รู้สึกว่าการทิ้งสิ่งของเป็นเรื่องยากลำบาก หรือรู้สึกทุกข์มากเมื่อทิ้งของบางสิ่งไป  
  • เก็บหรือรวบรวมสิ่งของที่มีมูลค่าเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เช่น ใบเสร็จ หนังสือพิมพ์เก่า ถุงหิ้วพลาสติก หรือสิ่งของใด ๆ ที่ชำรุด
  • มีปัญหากับการจัดหมวดหมู่สิ่งของ หรือการจัดการข้าวของให้เป็นระเบียบ
  • หวงของมาก ไม่สะดวกใจเมื่อมีคนมายุ่งกับสิ่งของตัวเอง 
  • ความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัวไม่ราบรื่น 
  • สุขภาพย่ำแย่, ได้รับบาดเจ็บจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสิ่งของ

 

'สะสมสัตว์' อีกหนึ่งความเลวร้ายของโรคชอบสะสมฯ

ในกลุ่มผู้ป่วยโรคสะสมสิ่งของ มีจำนวน 40% ที่สะสมสัตว์ เรียกกันว่าอาการ 'Animal Hoarding' จากสถิติในปี พ.ศ. 2562 พบว่า การสะสมสุนัขและแมวพบได้บ่อยที่สุด คิดเป็น 50% รองลงมาคือจำพวกสัตว์ปีก ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐอเมริกาประเมินไว้ว่า มีสัตว์จำนวนมากถึง ่250,000 ตัวต่อปี ที่ได้รับผลกระทบจากการครอบครองสะสมสัตว์จำนวนมากเกินไป

 

แรงจูงใจในการสะสมสัตว์แตกต่างจากการสะสมสิ่งของเล็กน้อยตรงที่ผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีความผูกพันกับสัตว์อย่างลึกซึ้ง รู้สึกว่าจำเป็นต้องเลี้ยงดูสัตว์เหล่านี้ เพราะคิดว่ามีเพียงแค่ตัวเองเท่านั้นที่เลี้ยงดูพวกมันได้ดี โดยทั่วไปแล้วการเริ่มสะสมสัตว์สอดคล้องกับ 'การสูญเสียครั้งใหญ่ในชีวิต' เช่น การสูญเสียคนในครอบครัว หย่าร้าง ตกงาน พบมากในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย และกลุ่มคนโสด

คนเราเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การครอบครองสะสมสัตว์ในจำนวนมากจนเกินกำลังของตนเอง อาจกลายเป็นการทำร้ายทั้งสองฝ่าย เมื่อมีจำนวนสัตว์มากเกินไป ก็ย่อมเกิดการเลี้ยงดูที่ไม่ทั่วถึง ไหนจะสภาพแวดล้อมที่ต้องจัดการของเสียอยู่เป็นประจำ ต้องอาศัยการทุ่มทั้งเวลาและพลังงาน ส่งผลให้ตัวผู้สะสม มักมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง มีแนวโน้มละเลยสุภาพและความเป็นอยู่ของตัวเอง

 

ออกจากวงจร 'ตัดใจทิ้งไม่ลง'

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจรู้สึกว่าตนน่าจะประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน คือตัดใจทิ้งของไม่ลง ไม่รู้ว่าควรทิ้งอะไรดี และชอบ “เก็บ” จนทำให้บ้านรกเราจึงนำเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยคุณออกจากวงจรบ้านรกเพราะไม่กล้าทิ้ง ที่สามารถทำได้ง่าย ๆ มาฝากกัน

🗑ทิ้งสิ่งของที่ไม่ใช้ในระยะ 1 ปี ที่ผ่านมา

โรคเก็บสะสมสิ่งของมักเกี่ยวข้องกับการเก็บสะสมสิ่งที่มีมูลค่าน้อยหรือไม่มีเลย เช่น เสื้อผ้าเก่าที่ใส่ไม่ได้ หนังสือพิมพ์เก่า ใบเสร็จ กระดาษ ถุงพลาสติก เครื่องใช้ที่ชำรุด ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งของที่ถูกเก็บสะสมไว้จากความคิดที่ว่าจะนำกลับมาใช้ใหม่ แต่มักลงเอยด้วยการกลายเป็นขยะที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้งาน

 

เชื่อหรือไม่ว่า ผลสำรวจใน ปี 2564 โดย OnePoll บริษัทวิจัยด้านการตลาดประเทศอังกฤษ ระบุไว้ว่า ในกลุ่มผู้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้พลาสติก จำนวน 2,000 คน มีถึง 49 % ที่เก็บสะสมพลาสติก เช่น ถุงหิ้ว ขวดน้ำนานกว่าอายุการใช้งานจริง จนกลายเป็นปัญหาขยะภายในบ้าน บางรายเก็บสะสมขวดพลาสติกไว้นานกว่า 10 ปี ทั้งที่บรรจุภันฑ์แบบขวดน้ำพลาสติก มีกำหนดเวลาหมดอายุภายใน 2 ปี เท่านั้น

 

แม้ว่าการใช้ซ้ำเป็นวิธีจัดการปัญหาพลาสติกได้ยั่งยืน แต่ก็ต้องอยู่ในความพอดีด้วย ลองตั้งกฏง่าย ๆ ด้วยการทิ้งหรือนำไปบริจาคสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา สังเกตว่าข้าวของเหล่านั้น ชำรุดเสียหาย จนยากที่จะนำกลับมาใช้ใหม่หรือไม่ ก็อาจช่วยให้ตัดใจทิ้งได้ง่ายขึ้น

คนโด มาริเอะ

 

🗑เก็บกวาดสิ่งของตามประเภท ด้วยวิธี 'คนมาริ'

หลายครั้งที่การตัดใจทิ้งเป็นเรื่องยาก เพราะเลือกไม่ได้ว่าสิ่งไหนควรทิ้ง หรือสิ่งไหนควรเก็บ 'การเก็บกวาดสิ่งของตามประเภท' ในแบบฉบับ 'การจัดบ้านแบบคนมาริ (KonMari)' โดย นักจัดบ้านชื่อดังชาวญี่ปุ่น 'คนโด มาริเอะ' ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ผู้คนตัดสินใจทิ้งง่ายขึ้น โดยเริ่มจากการแบ่งข้าวของออกเป็น 4 หมวดหมู่ ดังนี้

  • หมวดที่ 1: เสื้อผ้า = นำเสื้อผ้าทุกตัวในบ้าน ออกมากองรวมกัน แล้วหยิบขึ้นมาพิจารณาดูทีละชิ้นว่าชิ้นไหนที่เรารู้สึกกับมันในเชิงบวก คุณมาริเอะ ใช้คำว่า 'จุดประกายความสุข' (Sparking of joy) กล่าวคือ หากชิ้นไหนจุดประกายความสุขในตัวเราให้เก็บชิ้นนั้นไว้ ส่วนชิ้นไหนที่เรารู้สึกเฉย ๆ ให้ทิ้งไป แล้วกล่าวคำขอบคุณต่อเสื้อผ้าชิ้นนั้นด้วย
  • หมวดที่ 2: หนังสือ = นำหนังสือทั้งหมดในบ้านมากองรวมกัน แล้วพิจารณาทีละเล่ม เล่มที่รู้สึกถึงประกายความสุขให้เก็บไว้ เล่มที่ยังไม่ได้อ่านแต่จะอ่านสักวันหนึ่งในอนาคต และเล่มที่อ่านไม่จบสักที คุณมาริเอะแนะนำให้คัดแยกไปอยู่ในส่วน 'ทิ้งหรือบริจาคมือสอง'
  • หมวดที่ 3: กระดาษ /เอกสาร = เฉพาะเอกสารสำคัญเท่านั้นที่จะอยู่ในบ้าน ส่วนเอกสารอื่น ๆ ให้นำไปทิ้งหรือส่งไปรีไซเคิล
  • หมวดที่ 4: ของจิปาถะ = เครื่องประดับ ของเล่น รูปถ่าย อุปกรณ์เครื่องครัว ของจุกจิกทั้งหลาย สิ่งไหนที่มองแล้วเกิดคำถามว่า "มีไว้ทำอะไร" และไม่รู้สึกถึงประกายความสุขให้ทิ้งไป ส่วนของที่จำเป็นต้องใช้หรือสิ่งที่มีคุณค่าทางใจให้หา 'กล่องใส' มาจัดเก็บให้เป็นระเบียบ จะช่วยให้เราไม่ลืมว่ามีสิ่งนี้อยู่ในบ้าน และสะดวกต่อการหยิบมาใช้ในภายหลัง

 

🗑คิดก่อนนำสิ่งของเข้าบ้านด้วย 'กฏ 3 วัน'

หากคุณรู้ตัวว่ามีปัญหาในการตัดสินใจทิ้ง ก่อนซื้อของใหม่ ๆ เข้าบ้าน ก็ควรคิดให้ถี่ถ้วนสักนิดว่าสิ่งของนั้นจำเป็นกับเราแค่ไหน อาจใช้เทคนิค 'กฏ 3 วัน' (3 Days rules) ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการพูดถึงอย่างแพร่หลายว่า สามารถควบคุมความอยากในการจับจ่ายซื้อของได้ โดยกฏนี้มีอยู่ว่าเวลาเราอยากได้สิ่งของอะไรมาก ๆ ให้รอ 3 วัน เพราะบ่อยครั้งเราจะจำเหตุผลที่ต้องการสิ่งของชิ้นนั้นไม่ได้เมื่อผ่านไป 3 วันแล้ว แต่ถ้าผ่านไป 3 วันแล้ว ยังรู้สึกต้องการของชิ้นนั้นอยู่ ก็ค่อยอนุญาตให้ตัวเองซื้อได้หากยังรู้สึกว่าต้องการจริง ๆ

 

🗑จัดการกับของ 1 ชิ้น เพียง 1 ครั้ง (O.H.I.O rules)

หลายคนอาจกำลังเผชิญกับปัญหาห้องรก เพราะของจุกจิกที่ไม่กล้าทิ้ง เทคนิค 'จัดการเพียงครั้งเดียว' (Only handle it once) หรือ O.H.I.O rules โดย David Tolin ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดพฤติกรรมชาวอเมริกัน แนะนำว่า เมื่อได้ของมาสักชิ้นหนึ่ง ให้เราจัดหาพื้นที่ในการวางของชิ้นนั้นให้เหมาะสมที่สุด โดยพยายามไม่เข้าไปเคลื่อนย้ายมันอีกเลย และเมื่อใดก็ตามที่คุณจำเป็นต้องเข้าไปเคลื่อนย้ายสิ่งของนั้นหลายต่อหลายครั้ง ให้หยุดพฤติกรรมนั้น เพราะนี่เป็นสัญญาณว่ามันเริ่มรบกวนพื้นที่ใช้สอยในบ้านแล้ว และอาจถึงเวลาที่ต้องโละสิ่งของบางอย่างทิ้งไปบ้าง

 

⭐เข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ใครที่รู้ตัวว่าเข้าข่ายและเริ่มรู้สึกว่าส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิต ก็อย่าได้ลังเลที่จะไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในปัจจุบันการบำบัดรักษา 'Hoarding Disorder' มีลักษณะเดียวกันกับการบำบัดรักษาโรควิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ด้วยการใช้ยาควบคู่ไปกับการปรับวิธีคิดและพฤติกรรม

 

โรคชอบสะสมของ เป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถรักษาหายได้ แต่ที่สำคัญคือผู้ป่วยมักไม่รับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการมีคนรอบข้างคอยสังเกตพฤติกรรมจะทำให้สามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้สูงอายุ ที่มีจำนวนไม่น้อยที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าว เรียนรู้เกี่ยวกับ โรคสะสมของในผู้สูงอายุ เพิ่มเติมได้ในรายการ สูงวัยวาไรตี้ ตอน เก็บไม่เลิก วัยเก๋ากับโรคสะสมของจนรกบ้าน <คลิก

 

 

ที่มา: Science PsychCentral

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#โรคสะสมสิ่งของ, 
#โรคทางจิตเวช, 
#ซึมเศร้า, 
#โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ, 
#สูขภาพจิต, 
#HoardingDisorder, 
#มาริเอะคนโด, 
#บ้านรก, 
#เสียดายไม่กล้าทิ้ง, 
#จัดระเบียบบ้าน, 
#ชอบเก็บของ, 
#จิตวิทยา 
ALTV CI
LearnMore
LearnMore
ALTV All Around
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#โรคสะสมสิ่งของ, 
#โรคทางจิตเวช, 
#ซึมเศร้า, 
#โรคจิตเวชในผู้สูงอายุ, 
#สูขภาพจิต, 
#HoardingDisorder, 
#มาริเอะคนโด, 
#บ้านรก, 
#เสียดายไม่กล้าทิ้ง, 
#จัดระเบียบบ้าน, 
#ชอบเก็บของ, 
#จิตวิทยา 
แชร์
ฟัง
ชอบ
ติดตามเรา