ทุกวันศุกร์ที่สองของเดือนตุลาคมในแต่ละปี เกษตรกรผู้ผลิตและแฟน ๆ ไข่ทั่วโลกต่างออกมาแบ่งปันสูตรอาหารและแสดงความรักด้วยวิธีต่าง ๆ ที่มีต่อ “ไข่” และเนื่องในวันไข่โลกปีนี้ ALTV จะพาทุกคนมาร่วมเฉลิมฉลองด้วยคำศัพท์ภาษาอังกฤษและเรื่องน่ารู้รอบไข่
ไข่ 1 ฟอง ประกอบด้วย เปลือกไข่และเยื่อเปลือกไข่ 11% ไข่ขาว 58% และไข่แดง 31 % ในภาษาอังกฤษเรียกได้ดังนี้
ลักษณะนามของไข่ คนไทยมักเรียกเป็นฟอง ลูก หรือใบ แต่สำหรับฝรั่งไม่มีคำที่ใช้เจาะจงแต่จะเรียกตามจำนวนนับและเติมท้ายด้วย S หากมีมากกว่า 1 ฟอง เช่น
ก่อนจะนำไข่มาทำเมนูอะไรสักอย่างก็ต้องมีการปลอก ตอก ตี สำหรับคำกริยาในภาษาอังกฤษใช้แบบนี้
Boiled egg = ไข่ต้ม เป็นการนำไข่ทั้งใบมาต้มในน้ำเดือด โดยความสุกแบ่งได้ 3 ระดับ คือ
1.Soft-boiled egg = ไข่ลวก ใช้เวลาต้มเพียง 2-3 นาที ไข่ขาวยังไม่สุกดีหรือสุกเป็นน้ำสีขาวใส ๆ และไข่แดงยังดิบอยู่
2.Medium-boiled egg = ไข่ต้มยางมะตูม ใช้เวลาต้มประมาณ 4-6 นาที ไข่ขาวเริ่มสุกพอดี ในขณะที่ไข่แดงกึ่งสุกกึ่งดิบและตรงกลางยังเยิ้มเมื่อผ่าออก
3.Hard- boiled egg = ไข่ต้มสุกทั้งใบ ใช้เวลา 10-15 นาที
Fried egg = ไข่ดาว เป็นการตอกไข่สดใส่กระทะแบบไม่ต้องตีไข่ ทอดด้วยความร้อนปานกลางโดยไม่ให้ไข่แดงไม่แตก แบ่งความสุกได้ 4 ระดับ คือ
1.Sunny side up หรือ Sunny up = ทอดแบบไม่กลับด้าน ไข่แดงยังไม่สุกและไข่ขาวสุกพอดี
2.Over easy หรือ Runny = ทอดแบบกลับด้าน ไข่ขาวสุก ไข่แดงไม่สุก
3.Over medium หรือ Well = ทอดแบบกลับด้าน ไข่ดาวสุกปานกลาง
4.Over hard = ทอดแบบกลับด้าน สุกทั้งไข่แดงและไข่ขาว
Omelet หรือ Omelette = ไข่เจียว เป็นการนำไข่สดมาตีไข่ขาวและไข่แดงให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วปรุงรสด้วย น้ำปลา ซอสหอยนางรม นม หรืออื่น ๆ แล้วแต่สูตรเฉพาะ
Egg drop soup = ไข่น้ำ เป็นอาหารที่ผสมผสานระหว่าง 2 เมนู คือ ไข่เจียว (ไม่ปรุงรส) และแกงจืด ใส่ไข่เจียวที่หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลงไปในแกง
Minced Pork Omelet = ไข่เจียวหมูสับ นำไข่มาตีรวมกับหมูสับแล้วทอดในน้ำมัน
Century egg หรือ Preserved egg = ไข่เยี่ยวม้า เป็นไข่ที่เกิดจากการหมักบ่มจนได้ที่ เมื่อผ่าซีกจะเห็นเนื้อไข่ขาวเป็นวุ้นใส สีน้ำตาลอ่อนถึงไปจนถึงเข้ม ส่วนไข่แดงตรงกลางเป็นเนื้อครีมสีเทาดำ หรือสีเขียวปนน้ำตาล นิยมนำมาเป็นของไหว้ หรือทำเมนูอาหารมงคล
Salted egg = ไข่เค็ม เกิดจากการนำไข่เป็ดทั้งฟองมาแช่ในน้ำเกลือเพื่อถนอมให้เก็บไว้ทานได้นาน เนื้อไข่ขาวเนียนละเอียด ส่วนไข่แดงจะมีสีส้มอมแดง ให้รสชาติที่เค็มกลมกล่อม นิยมนำมาทานกับข้าวต้มหรือโจ๊ก, ยำ, ผัดไข่เค็ม นอกจากนี้ “ไข่แดงเค็ม” ยังถูกนำมาทำเป็นไส้ขนมไหว้พระจันทร์อีกด้วย
Scrambled egg = ไข่กวนหรือไข่คน การนำไข่มาตีบนกระทะดวยความร้อนต่ำ ปรุงด้วยเนย เกลือ และส่วนผสมอื่น ๆ
Steamed egg, Egg custard, Egg pudding = ไข่ตุ๋น เป็นการตีไข่แดงกับไข่ขาวให้เข้ากัน ปรุงรส แล้วนำไปนึ่งสุก
American Eggs Benedic - สหรัฐอเมริกา
ไข่เบเนดิกต์ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ไข่ดาวต้มน้ำ” เป็นเมนูอาหารเช้าสุดคลาสสิก (Breakfast) รวมถึงมื้อสาย (Brunch) ที่มีประวัติยาวนาน 100 กว่าปี มีต้นกำเนิดในนครนิวยอร์ก (New York City) โดยชายผู้หนึ่งชื่อ Lemuel Benedict เป็นผู้ค้นพบเมนูนี้โดยบังเอิญจากการเมาค้าง นิยมเสิร์ฟพร้อมทานด้วยการวางไข่บนแฮมหรือเบคอนสามชั้นรมควัน (Back bacon) ฐานเป็นขนมปังมัฟฟินแบบอังกฤษ (English muffin) ราดด้วยซอสฮอลแลนเดซ (Hollandaise sauce) ชุ่มฉ่ำน่าลิ้มลอง
Scotch Egg - สหราชอาณาจักร หรือประเทศอังกฤษ
เมนูนี้ไม่ใช่สูตรของชาวสก๊อตแลนด์ตามชื่อเรียกแต่อย่างใด แต่มีต้นกำเนิดในเมืองยอร์กเชียร์ (Yorkshire) ประเทศอังกฤษ ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เดิมทีสมัยนั้นเรียกว่า “Scotties” เพราะเป็นเมนูจากร้านอาหารชื่อว่า “William J Scott & Sons” ต่อมาเริ่มเป็นที่นิยมกันแพร่หลาย ร้านอาหารทั่วไปจึงเรียกใหม่ในชื่อ “Scotch eggs”
ไข่สก๊อตช์ เป็นไข่ต้มที่หุ้มด้วยไส้กรอกหรือเนื้อสัตว์บดที่คลุกเคล้ากับกุ้ยช่าย ผักชีฝรั่ง มัสตาร์ด ลูกจันทน์เทศ เกลือ และพริกไทย ชุบเกล็ดขนมปัง แล้วนำไปทอดหรืออบให้กรอบ เสิร์ฟพร้อมไข่ผ่าซีกและเบคอนราดด้วยมายองเนส นิยมทานเป็นอาหารเช้าหรืออาหารว่างระหว่างการเดินทางหรือกิจกรรมปิกนิก
Tamagoyaki ทามาโกะยากิ หรือไข่หวาน - ประเทศญี่ปุ่น
ความหมายตรงตัวแปลว่า “ไข่ย่าง” (grilled egg) หรือไข่เจียวม้วนสไตล์ญี่ปุ่นเนื้อนุ่มละมุนลิ้น เป็นการนำไข่มาตีให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำตาล ซีอิ๊วขาว ทอดด้วยการกลิ้งไข่หลาย ๆ ชั้นเป็นทรงสี่เหลี่ยม จากนั้นตัดเป็นชิ้นพอดีคำ ชาวญี่ปุ่นนิยมทานเป็นอาหารเช้ามาตั้งแต่ปี 1950 จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคไข่เพื่อสุขภาพ ปัจจุบันพบในอาหารแทบทุกมื้ออาหาร เป็นทั้งของคาวและของหวาน และเมนูที่โด่งดังไปทั่วโลก ก็คือข้าวปั้นหน้าไข่หวาน
Gyeran Bbang คเยรันปัง - ประเทศเกาหลีใต้
คเยรันปัง หรือ ขนมปังไข่ (egg bread) อาหารข้างทาง (street food) ของชาวเกาหลีใต้ที่นิยมทานเป็นของว่าง เป็นขนมปังที่ทำจากแป้งแพนเค้ก รสชาติหอมหวาน เนื้อนุ่มฟู มีไส้เป็นไข่ทั้งใบอยู่ข้างใน มักโรยหน้า (topping) ด้วย ผักชีฝรั่งสับ, ชีส และแฮมหั่นลูกเต๋า ต้นตำหรับเมนูนี้เกิดขึ้นครั้งแรกช่วงปี 1984 จากร้านข้างทางบริเวณในเมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้
ไข่ลูกเขย Egg with Tamarind Sauce - ประเทศไทย
ไข่ทอดราดซอสมะขามแสนอร่อย มีรสชาติเปรี้ยวหวานกลมกล่อม เป็นอาหารคาวที่ทําด้วยไข่ต้มทั้งลูกนำไปทอดนํ้ามัน ราดด้วยซอสน้ำมะขามเปียกที่เคี่ยวกับน้ำตาลและน้ำปลา โรยด้วยหอมแดงเจียวและฝักชี
ที่มาของชื่อเมนู เกิดจากจากการคิดพลิกแพลงลูกเขยคนหนึ่ง มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่า ครั้งหนึ่งแม่ยายเข้าครัวทำน้ำปลาหวาน เพื่อเอาไว้ทานกับสะเดาลวกและปลาย่าง แต่ลูกเขยไม่กินปลาจึงเกิดไอเดียนำไข่ต้มไปทอดแล้วกินกับน้ำปลาหวาน ต่อมาหลังจากหมดฤดูของสะเดา ลูกเขยก็ลองทำไข่ทอดราดน้ำปลาหวานมาทานอีกครั้ง โรยด้วยหอมเจียวแล้วให้แม่ยายมาชิม ปรากฏว่า “อร่อย” ถูกใจแม่ยายและมองว่าแปลกใหม่ดี จึงตั้งชื่อเมนูนี้ว่า “ไข่ลูกเขย” ตั้งแต่นั้นมา
ไข่ ถือเป็นอาหารชั้นดีในราคาที่ใครก็เอื้อมถึง นอกจากจะทำอาหารได้หลากหลาย ยังเป็นแหล่งโปรตีน แคลเซียม วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไข่ต้มใบใหญ่ 1 ฟองให้พลังงานเพียง 77 แคลอรี อุดมไปด้วยสารอาหารที่ร่างกายต้องการ ได้แก่
โดยเฉพาะซิลิเนียม ที่เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) ช่วยชะลอวัยและป้องกันโรคอัลไซเมอร์ โดยในไข่มีซิลิเนียมมากถึง 1 ใน 4 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน อีกทั้งยังเป็น “อาหารลดน้ำหนัก” ที่ให้ไขมันดี คือโอเมก้า 3 ที่จำเป็นต่อการทำงานของสมอง สายตา หัวใจ และระบบหลอดเลือด รวมถึงป้องกันโรคสมาธิสั้นในเด็ก เพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้อย่างดีเยี่ยม ไม่น่าเชื่อว่าไข่ 1 ฟองจะอัดแน่นไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากมายในแบบที่อาหารประเภทไหนก็เทียบไม่ติด
ข้อมูลจากกลุ่มวิจัยเศรษฐกิจการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ปี 2563 คนไทยบริโภคไข่ต่อวันไม่ถึงครึ่งฟอง หรือเฉลี่ยเพียง 223 ฟองต่อคนต่อปี “ถือว่าน้อยมาก” เมื่อเทียบกับ ญี่ปุ่นที่ 345 ฟองต่อคนต่อปี และมาเลเซีย 314 ฟองต่อคนต่อปี ดังนั้นเรามาเริ่มทานไข่เพื่อสุขภาพที่ดีไปพร้อมกัน
ที่มา: Mega Omelet Japan - Edison nation
หากเปลี่ยนไข่มาเป็นของขวัญ หรือของฝาก ช่วงเทศกาลแห่งความสุขก็ถือเป็นไอเดียที่สร้างสรรค์ทีเดียว
ขอบคุณข้อมูล: Get Real English , ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี, japantimes.co.jp, english-heritage.org.uk