เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สุดสลดใจขึ้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อตำรวจนอกราชการใช้อาวุธบุกเข้าไปก่อเหตุทำร้ายอย่างอุกฉกรรจ์ในศูนย์เด็กเล็กจนเป็นผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเป็นอันตรายถึงชีวิตหลายราย เมื่อข่าวรายงานว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือเด็กเล็กที่กำลังนอนกลางวันอยู่ภายในศูนย์ฯ ไม่ว่าใครที่ได้ทราบข่าวก็จิตตกไปตาม ๆ กัน
พอมันเริ่มเป็นประเด็นจนมีรายละเอียดต่าง ๆ ตามออกมา ข้อมูลและภาพจากที่เกิดเหตุเต็มไทม์ไลน์ไปหมดถึงขนาดที่แฮชแท็ก #กราดยิงหนองบัวลำพู ติดเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ข้ามวันด้วยจำนวนโพสต์หลักหลายล้าน ทั้งข้อเท็จจริง ข่าวลือ ความคิดเห็น รวมไปถึงภาพถ่ายอันน่าหดหู่ที่ไม่ควรนำมาเผยแพร่ก็ถูกแชร์ต่อกันไปไวเกินกว่าที่ใครก็ตามจะยั้งได้ทัน
ตัวเราที่คาดเดาไว้ว่าเดี๋ยวจะต้องกลายเป็นประเด็นร้อนทะลักโซเชียลมีเดียแน่ ๆ เลือกตามข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้และอ่านข้อมูลให้พอทันเหตุการณ์ นอกเหนือจากนั้นก็ต้องเอาตัวเองออกมาจากกระแสอารมณ์และความรุนแรงทั้งหลายให้ไกล เพราะรู้ตัวดีว่าภูมิต้านทานด้านนี้เรามีไม่มาก ถึงจะพยายามเลี่ยงแล้วก็ยังถอนหายใจไปไปหลายเฮือก
จนต้องยอมแพ้วางหนังสือเล่มที่อยู่ในมือลง เพราะถึงจะทู่ซี้อ่านไป ก็อินกับอารมณ์ของนิยายต่อไม่ไหวอยู่ดี
...คงต้องเปลี่ยนหัวข้อสำหรับสัปดาห์นี้แล้วล่ะ
เราเคยแนะนำหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของจิตใจผ่านคอลัมน์ขยับแว่นมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่วรรณกรรมความหวัง เรื่องราวดีต่อใจ ไปจนถึงเนื้อหาเกี่ยวกับอาการทางจิตเวช แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นการพูดคุยกับใจในปัญหาที่ตกค้าง
แล้วถ้าหากเราเจอกับเรื่องที่ทำให้ใจหล่นวูบอย่างกระทันหันล่ะ จะพอมีอะไรที่ช่วยเราได้ทันท่วงทีไหม?
เรานึกถึงหนังสือชื่อ “EMOTIONAL FIRST AID – ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ” บนยอดกองดองที่ซื้อมาแช่อิ่มไว้ตั้งแต่วางแผงแรก ๆ เพราะเป็นงานที่ได้รับคำชมจากหลายคนว่าเป็นหนึ่งในหนังสือจิตวิทยาที่เอาไปใช้จริงได้อย่างดี
กาย วินช์ นักจิตวิทยาเจ้าของหนังสือ เกริ่นไว้ในบทนำเกี่ยวกับการให้ความสำคัญกับแผลกายที่ต่างจากแผลใจว่า ถ้าเราหกล้มจนเจ็บหัวเข่าต้องทำอย่างไร แม้แต่เด็ก ๆ ก็คงจะตอบได้ว่าต้องไปทำความสะอาดแผล ใส่ยา ปิดด้วยผ้าพันแผล แต่หากเปลี่ยนเป็นความเจ็บหัวใจล่ะจะทำอย่างไรดี? ...อันนี้ถามผู้ใหญ่บางคนก็อาจจะยังไม่มั่นใจในคำตอบ
“ในขณะที่ทุกครัวเรือนมีตู้ยาซึ่งเต็มไปด้วยผ้าพันแผล ยาขี้ผึ้ง และยาแก้ปวดสำหรับรักษาความเจ็บป่วยพื้นฐานทางกาย แต่เรากลับไม่มีตู้ยาเช่นนั้นสำหรับการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ ทางใจที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน”
...จริง ๆ นอกจากต้องรู้ข้อบ่งใช้ของยาสามัญประจำบ้านแล้ว เราควรต้องเรียนรู้เรื่องการปฐมพยาบาลทางใจด้วยไหมนะ?
หลังจากอ่านจบบทนำเราพลิกกลับมาที่หน้าสารบัญเพื่อสำรวจหัวข้อต่าง ๆ อีกครั้ง บาดแผลทางใจถูกแบ่งไว้หลายหมวดพร้อมกับจำกัดความด้วยการเปรียบเทียบกับการบาดเจ็บทางกาย และก็เจอหัวข้อที่มองหา
บทที่ 3 การสูญเสียและเหตุการณ์สะเทือนใจ : เดินด้วยกระดูกที่หัก
ผู้เขียนเปรียบเทียบการต้องพบกับเหตุกระทันหันว่าหัวใจของเราถูกกระทบเหมือนกับร่างกายคนเราที่ถูกกระแทก บางคนอาจเกิดรอยช้ำ แต่บางคนก็อาจรุนแรงถึงกับแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ
แต่ละช่วงในบท กาย วินช์ เรียบเรียงเนื้อหาไว้ได้อย่างไหลลื่น กับผู้อ่านที่แม้กำลังอยู่ในอารมณ์อ่อนไหวก็สามารถทำความเข้าใจตามไปได้ทันท่วงทีตั้งแต่แผลใจยังสดใหม่ บวกกับการเล่าเรื่องของผู้ที่เคยเข้ามารับการรักษาที่ก็ดูเป็นคนธรรมดา ไม่ได้ใช้ชีวิตแปลกไปกว่าใคร ทำให้เรารู้สึกวางใจว่าไม่ว่าใครก็มีสิทธิ์จะทุกข์ใจได้เหมือนกัน
นอกจากการแบ่งเรื่องออกเป็นขั้นตอนชัดเจนจนทำให้เราคิดตามไปได้อย่างง่ายดายแล้ว กาย วินช์ยังคอยแทรกย่อหน้าเป็นระยะด้วยว่าหาผู้อ่านเกิดความรู้สึกไม่สบายใจอย่างมากหรือเจ็บปวดเกินไปแล้วล่ะก็ ขอให้เว้นแบบฝึกบางช่วง และข้ามไปสู่ท้ายบทที่ให้คำแนะนำไว้ว่าเมื่อไรที่เราควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
เมื่อมีเหตุการณ์ร้ายแรงอย่างที่เกิดขึ้นที่หนองบัวลำภู สิ่งที่สำคัญมากไม่แพ้การกู้ชีพและให้การรักษาแก่ผู้บาดเจ็บ นั่นคือการให้ความสำคัญกับจิตใจขอผู้ที่ได้รับผลกระทบ ไล่ไปตั้งแต่ผู้เผชิญเหตุ ญาติครอบครัว ผู้เข้าปฏิบัติงานในที่เกิดเหตุ ประชาชนที่อาศัยในละแวกพื้นที่ เด็กเยาวชน คนร่วมอาชีพครู ผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครองที่มีบุตรเป็นของตัวเอง ไปจนผู้ที่สะเทือนใจเมื่อรับข่าวสาร
จากข้อมูลที่กรมสุขภาพจิตเผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่าประเทศไทยมีจิตแพทย์ปฏิบัติงานอยู่ทั้งหมดไม่ถึงพันคน คิดเป็นจิตแพทย์ 1.28 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคน! (อ้างอิงจากบทความ “จิตแพทย์ – นักจิตวิทยาในไทย 1 คน ดูแลประชากรเกือบแสนคน”) https://bit.ly/3T3cPce
แน่นอนว่าความจำเป็นเร่งด่วนในการต้องได้รับคำปรึกษาหรือการรักษานั้นแตกต่างกันไป แต่เมื่อดูจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่ในประเทศไทยและวิธีที่รัฐเข้าไปจัดการ “เยียวยา” แล้วก็ต้องบอกว่าน่าเป็นห่วงเหลือเกิน
บางบาดแผลถูกมองว่าแค่ล้าง ใส่ยา เอาผ้าก๊อซแปะก็คงหายได้เอง แต่หลายครั้งเราไม่สามารถประเมินความสาหัสจากสภาพภายนอกได้ มันเป็นความบาดเจ็บลึกเข้าไปข้างในเหมือนกระดูกหัก ที่จำเป็นต้องเรียงชิ้นส่วนให้ได้รับการซ่อมแซมอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อการฟื้นฟูจนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงความเป็นปกติมากที่สุด
เพราะไม่ว่าความเสียหายจะเป็นระดับร้าวหรือย่อยยับ สิ่งที่ต้องรักษาเช่นกันในทุกกรณีคือการนำหัวใจมาประกอบกลับเข้าที่อย่างเข้าใจ
นอกจากหัวข้อเกี่ยวกับการสูญเสียแล้ว ในเล่มยังพูดถึง “บาดแผล” อีกหลายเรื่องซึ่งล้วนไม่แปลกหน้าเลยสำหรับหัวใจใครหลายคน
สามารถอ่านคำโปรยและเนื้อหาอย่างย่อ ของหนังสือ คลิก >>> “EMOTIONAL FIRST AID – ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ” ของ กาย วินช์ แปลโดย ลลิตา ผลผลา
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน