3 ปีที่ผ่านมา หลายคนต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ ได้ส่งผลกระทบไปอย่างวงกว้าง ทั้งระบบเศรษฐกิจ การค้าขายที่ต้องลุ้นว่าแต่ละวันจะรอดไปได้หรือไม่ รวมถึงระบบสุขภาพที่หลายคนยังเข้าไม่ถึง และนี่ถือเป็นความเหลื่อมล้ำในสังคมชนิดหนึ่ง ที่ไม่ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายอย่างไร สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอาจจะไม่หวนกลับคืนมาดั่ง “ระบบการศึกษาไทย”
ช่วงหนึ่งของระบบการศึกษาไทย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หลายโรงเรียนปรับเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนใหม่ จากรูปแบบการเรียน On Site มาสู่การเรียน Online ซึ่งทำให้โลกของเทคโนโลยี และอินเทอร์เน็ต เข้ามามีบทบาทในการเรียนมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาของหลายบ้าน หลายครอบครัว ที่มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอต่อการสนับสนุนการศึกษาของลูกหลาน จนถึงปัจจุบันที่สถานการณ์โควิด-19 ได้คลี่คลายลง บางอย่างฟื้นตัว กลับมาครึกครื้นได้เหมือนเดิม แต่บางอย่างก็ไม่สามารถกลับมาได้ นั่นคือ “เด็กไทย” ที่มีจำนวนไม่น้อยได้หลุดออกจากระบบการศึกษา และอาจไม่หวนคืนกลับมา ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลกระทบมาจากช่วงโควิด-19 เป็นต้นมา
จากผลสำรวจของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่ามีเด็กตกหล่นที่หลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 238,000 คน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่วิกฤติอย่างมาก ทำให้กระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายหน่วยงานจากทางรัฐบาล ได้มีการเข้ามาช่วยเหลือ หาแนวทาง และวิธีการแก้ไขปัญหา ผ่านโครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ซึ่งเป็นการคืนโอกาส สร้างอนาคตให้เด็ก ๆ และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยตั้งเป้าหมายของจำนวนเด็กไทยที่หลุดออกจากระบบให้เป็นศูนย์ ซึ่งปัจจุบัน มีสถิติการพาเด็กไทยกลับเข้าระบบการศึกษาถึง 220,000 กว่าคน และยังมีจำนวนนักเรียนที่ตกเหลือกว่า 17,000 กว่าคน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
และหากว่าไม่มีการกระตุ้น การสนับสนุน หรือการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจากหน่วยงานใด ๆ เชื่อว่าจำนวนเด็กไทยที่หลุดออกจากระบบการศึกษา จะกลายเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดไปอีกยาวนาน และยังคงจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ แบบคาดไม่ถึง ซึ่งจากผลสำรวจของ The Visual By Thai PBS พบว่า เด็กส่วนใหญ่ที่หลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุด เป็นเด็กมัธยมตอนปลาย ที่อยู่ในช่วงรอยต่อ ชั้น ม.3 กำลังก้าวเข้าสู่ ม.4 หรือ ปวช.1 ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ที่ตกลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 95.29 % ในช่วง ม.3 ตกลงมาที่ 85.92 % ในช่วง ม.4 นั่นเอง
สาเหตุที่เด็กบางคนไม่ได้ไปต่อในระบบการศึกษา อาจเป็นเพราะปัญหาในแต่ละด้าน ที่เกิดขึ้นในแต่ละครอบครัว หรืออาจะเป็นเพราะกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยเช่นกัน ได้แก่
หรืออาจเป็นเพราะระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์กับเด็กไทยในยุคนี้ ทั้งกระบวนการสอนในห้องเรียนของคุณครูบางท่านที่อาจไม่เต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น ทำให้เด็กนักเรียนบางกลุ่มต้องไขว่คว้าหาความรู้เพิ่มเติม จากสถานบันกวดวิชานอกโรงเรียน หรือแม้กระทั่งยอมควักเงินจ่ายค่าเรียนพิเศษ กับคุณครูประจำวิชาในชั้นเรียน เพื่อให้ได้ทริก หรือเคล็ดลับง่าย ๆ ที่หาไม่ได้ในห้องเรียน ซึ่งหลากหลายเหตุการณ์ในสังคมที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ก็อาจเป็นการสะท้อนไปถึงจรรยาบรรณของความเป็นครูด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่าจากสาเหตุที่เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ส่วนใหญ่จะมีปัจจัยทางด้านการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งหากว่าครอบครัวไม่มีเงินที่จะสนับสนุน หรือส่งเสียให้ลูกหลานได้เรียนต่อ นั่นอาจเป็นประตูในการปิดกั้นโอกาส และอนาคตเยาวชนของชาติ โดยทางออกปัญหาซ้ำซากเหล่านี้ เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ได้เสนอถึงเรื่อง การสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน กระจายไปยังโรงเรียนขนาดเล็กในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการดึงเด็กนักเรียนในอำเภอ หรือจังหวัด ให้กลับเข้ามาเรียนในพื้นที่ และเป็นการกระจายความเสนอภาคทางด้านการศึกษาอีกด้วย และอีกวิธีจากงานวิจัยหนึ่ง เมื่อเด็กที่เรียนดี แต่กลับยากจน มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ ขอแค่ต้องการการสนับสนุนจากครอบครัว ทางด้านอารมณ์ และทัศนคติทางการศึกษาที่ถูกต้อง รวมไปถึงบรรยากาศในโรงเรียน ทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยเด็กนักเรียนได้ทั้งหมดทั้งสิ้น
บางครอบครัวที่ไม่มีลูกหลาน อาจไม่สนใจ ละเลย และมองข้ามไปกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ ซึ่งการที่มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก และอาจมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคม ที่แม้ว่าอาจจะเกิดขึ้นในชุมชนเล็ก ๆ ก็ตาม เพราะเด็กหลุดขอบเหล่านั้น อาจเป็นเด็กที่เรียนดี มีความสามารถ มุมานะ เพียงขาดทุนทรัพย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการศึกษาของยุคสมัยนี้
และเมื่อเด็กเหล่านั้น ไม่ได้รับโอกาสในการเรียนต่อ ซึ่งส่งผลให้อนาคตของประเทศชาติ ขาดประชากรที่มีคุณภาพในอนาคตไป เด็กเหล่านี้อาจกลายเป็นแรงงานที่ด้อยคุณภาพทำให้มีรายได้น้อย ขาดโอกาสทางสังคม และมีโอกาสส่งต่อความจนไปสู่รุ่นต่อ ๆ ไป
👨🏼🎓เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
ปิดท้ายด้วยเกร็ดความรู้ของตัวย่อ กับคำศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการศึกษาเหล่านี้
ตัวย่อคำว่า “สพฐ.” มีชื่อเต็มว่า สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ตัวย่อคำว่า “กศน.” มีชื่อเต็มว่า สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ตัวย่อคำว่า “ปวช.” มีชื่อเต็มว่า ประกาศนียบัตรวิชาชีพ
ตัวย่อคำว่า “กสศ.” มีชื่อเต็มว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
เด็กไทยอีกหลายชีวิต กำลังจะกลายเป็น “เด็กหลุดขอบ” อย่าปล่อยการศึกษาไทยกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่พบได้ทั่วไป มาร่วมคืนเด็กไทยกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา พร้อมมาร่วมติดตามชม ระดมความเห็น ออกแบบนโนบายสู่ภาคสังคม ได้ทาง “เด็กหลุดขอบ” ทาง Thai PBS << (คลิกรับชม)
อ้างอิงข้อมูลจาก กสศ., Thevisual Thaipbs