เราเชื่อว่าใครหลายต้องกำลังเผชิญกับอาการประหม่า ขาดความมั่นใจเมื่อต้องพูดหรือทำอะไรสักอย่างต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการพรีเซนต์งาน หรือการพูดในที่ประชุมที่ล้วนแต่เป็นหน้าที่และความผิดชอบที่เลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้เอง ‘การสร้างตัวตนใหม่’ หรือในทางจิตวิทยา ที่เรียกว่าการสร้าง ‘Alter Ego’ จึงเป็นสิ่งที่คนเราดึงมาใช้ในยามที่ต้องก้าวข้ามสถานการณ์ที่ยากกลำบากเหล่านี้
คำว่า ‘Alter ego’ เป็นศัพท์ทางจิตวิทยาที่ใช้อธิบายถึง 'บุคลิกภาพรอง' หรือ 'ตัวตนเสมือน' ที่ใครคนใดคนหนึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้ก้าวข้ามความกลัวบางอย่าง หรือ เพื่อทำในสิ่งที่ตัวตนเดิมไม่คาดคิดว่าจะทำได้ เหมือนเป็นการสวมบทบาทแสดงเป็นคาแรกเตอร์ ที่ตรงข้ามกับตัวเราในเวอร์ชั่นปัจจุบัน
แต่เพราะ ‘Alter ego’ มักมีบุคลิกภาพที่ตรงข้ามกับตัวเราสุดขั้ว ครั้งหนึ่งจึงเคยถูกสันนิษฐานว่าเป็นลักษณะอาการของโรค 'Multiple Personality Disorder (MPD)' หรือ 'โรคหลายบุคลิก' โรคทางจิตเวชที่ทำให้ผู้ป่วยมีอัตลักษณ์หรือบุคลิกมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป แต่ภายหลังข้อสันนิษฐานดังกล่าวต้องถูกตีตกไป เพราะลักษณะสำคัญของโรคหลายบุคลิกคือ ผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวถึงการมีอยู่ของอัตลักษณ์เหล่านั้น และสูญเสียการควบคุมร่างกายโดยสิ้นเชิง ซึ่งต่างจากตัวตนเสมือนที่เรายังสามารถรับรู้และควบคุมได้
Roberto Assagioli นักจิตบำบัดชาวอิตาลีผู้บุกเบิกทฤษฎีจิตสังเคราะห์ (Psychosynthesis) อธิบายถึง Alter ego ไว้ว่า เราทุกคนล้วนมีบุคลิกรองและตัวตนอื่น ๆ ซ่อนเร้นอยู่ไม่มากก็น้อย โดยตัวตนที่เราใช้ดำเนินชีวิตอยู่ทุกวันนี้ เป็นเพียงตัวตนหนึ่งที่เรายึดมั่นจากความเชื่อที่มีต่อตัวเองและเป็นตัวตนที่มีอิทธิพลต่อตัวเราที่สุด ส่วนตัวตนอื่น ๆ นั้นอาจปรากฏขึ้นได้ แล้วแต่สถานการณ์ เช่น ต้องสวมบทบาทเป็นผู้นำในสถานการณ์ที่ต้องบริหารจัดการกับบางสิ่งบางอย่าง เป็นต้น
บียอนเซ (Beyoncé) ศิลปินสาวระดับโลกเคยกล่าวไว้ว่า “ทุกครั้งที่ฉันได้ยินเสียงคอร์ด หรือได้ใส่รองเท้าส้นเข็ม ตัวตนใหม่ของเธอ นามว่า ‘ซาชา เฟีร์ยส (Sasha Fierce)’ จะปรากฏตัวขึ้น" และในตอนนั้นอง ท่วงท่าการเดินและวิธีการพูดของเธอจะเต็มไปด้วยความมั่นใจและมีเสน่ห์เย้ายวน
แต่ทว่า ซาชา เฟีร์ยส ไม่ใช่ตัวตนที่บียอนเซสร้างขึ้นเพื่อเป็นกิมมิคแต่อย่างใด หากแต่เป็นกลยุทธ์ทางจิตวิทยาที่เธอใช้ในการรับมือกับความไม่มั่นใจก่อนขึ้นแสดงต่อหน้าคนดูมากมายเท่านั้น
กลยุทธ์ของบียอนเซที่ว่ามานี้ สอดคล้องกับผลงานวิจัยที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า The Batman Effect ที่ได้ตีพิมพ์วารสารพัฒนาการเด็ก (Child Development) โดยมีการทดลองให้เด็ก ๆ แต่งตัวเป็นตัวการ์ตูนที่ชอบ เช่น แบตแมน, ดอร่านักสำรวจ, และ เจ้าหญิงราพันเซล ผลปรากฏว่า เด็ก ๆ เหล่านี้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำมากขึ้น และและมีแนวโน้มทำงานสำเร็จมากกว่ากลุ่มเด็กที่ไม่ได้แต่งตัวตามตัวการ์ตูนที่ชอบ
นอกจากนี้ อีธาน ครอส (Ethan Kross) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน (The University of Michigan) ได้ชี้ว่า การสร้างตัวตนหรือบคลิกใหม่ขึ้นมานี้ สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ขึ้น ในทางกายภาพช่วยให้ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจลดลง นำมาซึ่งความสามารถในการรับมือกับความกดดันได้ดีขึ้นอีกด้วย
อาจเริ่มจากลองมองหาคาแรกเตอร์ที่เรารู้สึกว่าใกล้เคียงกับตัวตนที่เราอยากเป็น หรือตัวตนที่อยากให้ผู้คนรับรู้ตัวตนเราแบบไหน เช่น ลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ ท่าทาง
การมีชื่อเรียกให้ตัวตนของเรา เป็นอีกวิธีการโน้มน้าวให้ตัวเรารู้สึกเชื่อว่าที่แสดงออกอยู่นี้เป็นอีกคนที่กล้าแสดงออกและมีความมั่นใจ ไม่ใช่ตัวตนเดิมของเรา
เมื่อมีชื่อและหน้าตาของตัวตนในอุดมคติแล้ว ลองสำรวจว่ามีทักษะอะไรที่เราบกพร่องไป แล้วเพิ่มทักษะความสามารถนั้นลงไปในตัวตนใหม่ด้วย เช่น ถ้าเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ตัวตนใหม่ก็ควรต้องเป็นคนที่กล้าแสดงออก
แม้ว่าการมีตัวตนใหม่จะช่วยเรียกความมั่นใจให้ตัวเราได้ แต่อะไรที่มากไปก็ย่อมมีผลเสียเสมอ การพึ่งพาตัวตนเสมือนมากเกินไปก็อาจทำให้เราแยกตัวตนจริง ๆ ของเรากับตัวตนที่เราสร้างขึ้นมาไม่ออก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในที่สุด
เมื่อพูดถึงการสวมบทบาทแล้ว ALTV ขอพาเพื่อน ๆ ไปเรียนรู้รับชมกับศาสตร์แห่งศิลปะการแสดงหลากหลายรูปแบบ ได้ที่รายการ Art Cafe อาร์ตคาเฟ ตอน ศิลปะและการแสดง ทางเว็บไซต์ ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก