ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
บทสรุปงาน Hack Thailand 2575 ส่งเสียงประชาชนสู่อนาคตประเทศไทย
แชร์
ชอบ
บทสรุปงาน Hack Thailand 2575 ส่งเสียงประชาชนสู่อนาคตประเทศไทย
29 เม.ย. 66 • 15.30 น. | 314 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

จบไปแล้วกับภารกิจ Hack Thailand 2575 : ภารกิจพลิกโฉมประเทศไทยสู่ภาพอนาคตหลังเลือกตั้ง ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 18 - 20 เมษายน 2566 ภารกิจระดมสมองจากคนจากหลายภาคส่วนร่วมกันวางแนวทางพัฒนาประเทศ สู่อนาคตประเทศไทยหลังการเลือกตั้งไปด้วยกันผ่านกระบวนการ Hackathon แล้วนำเสนอให้พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคเพื่อชาติ, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคเพื่อไทย, พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย พิจารณาเพื่อนำไปร่วมขับเคลื่อนกันต่อไป 

 

 

ขอบคุณรูปภาพจากเพจ The Active


🔹What is Hackathon?

 

เกิดจากการรวมกันของ 2 คำ คือ Hack หมายถึงการไปล้วง แคะ แกะ เกาบางสิ่งบางอย่างเพื่อทำในสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน และ Marathon หมายถึง การทำอะไรบางสิ่งนาน ๆ ยาว ๆ เมื่อรวมกันเป็น Hackathon จะได้ความหมายว่า การหาคำตอบจากเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยรูปแบบ วิธีการใหม่ ๆ หรือความพยายามในการแก้ปัญหาโดยการระดมความคิดเป็นระยะเวลานานจนกว่าจะได้คำตอบหรือได้วิธีการที่นำไปสู่ทางออกของประเด็นนั้น ๆ Hackathon นิยมใช้กันในกลุ่มสตาร์ทอัป (Startup) หรือกลุ่มเทคโนโลยี เช่น ใน Facebook จะมีทีม Hackathon ของตัวเองเพื่อร่วมกันหาวิธีสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งจากการระดมความคิดในครั้งนั้นทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นภาพจำของ Facebook คือ ปุ่มแชร์ ปุ่มไลก์นั่นเอง

 

 กล่าวโดยสรุป Hackathon คือ การหาคำตอบด้วยการระดมความคิดร่วมกันเป็นระยะเวลานานเพื่อให้ได้มาซึ่งทางออกใหม่ ๆ ที่จับต้องได้

 

ขอบคุณรูปภาพจากเพจ The Active

 

🔹3 ฉากทัศน์อนาคตเมืองไทยผ่าน Hackathon

 

ด้วยวิธีการหาคำตอบที่น่าสนใจนี้ ทางไทยพีบีเอสและองค์กรเครือข่ายจึงร่วมกันสร้างพื้นที่สนทนากับประชาชนใน 8 พื้นที่/ภูมิภาค ซึ่งมีคนเข้าร่วมกว่า 400 คน และจากแบบสอบถามออนไลน์ประมาณ 2,000 คน รวมทั้งมีการจัดเวทีนโยบายต่าง ๆ ใน 6 กลุ่มประเด็น คือ เศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ การศึกษา รัฐ-การปกครอง และสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะทำงานวิชาการเข้าร่วมสังเกตการณ์ จัดเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ และปริมาณนำมาวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น

 

จากการเปิดพื้นที่รับฟังเสียงความต้องการของผู้เข้าร่วมสามารถพัฒนาและถ่ายทอดออกมาเป็นอนาคตประเทศไทย ไว้ 3 แนวทาง โดยสะท้อนออกมาเป็นภาพเชิงสัญลักษณ์ของต้นไม้ 3 ฉากทัศน์อย่างคร่าว ๆ คือ

 

“ใต้ร่มเงา - เดี่ยวโดดเด่น – ร่วมเกื้อกูล”

 

  • ฉากทัศน์ 1 – ใต้ร่มเงา

 

เปรียบเสมือนสังคมเป็นต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขา ให้ร่มเงา ให้สิ่งมีชีวิตได้อาศัย แต่กิ่งก้านที่แผ่ขยายปกคลุมเป็นร่มเงาใหญ่นี้กลับทำให้ต้นไม้เล็ก ๆ ที่เปรียบเสมือนประชาชนและท้องถิ่น ไม่สามารถเจริญงอกงามภายใต้รัฐส่วนกลางที่เป็นดั่งต้นไม้ใหญ่ได้ และระบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบการศึกษา เศรษฐกิจ ระบบสุขภาพ การบริหารส่วนท้องถิ่น การทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความมั่นคงและอยู่รอดของรัฐส่วนกลางเท่านั้น

 

  • ฉากทัศน์ 2 – เดี่ยวโดดเด่น

 

ภาพประเทศไทยในอนาคตข้างหน้าที่เปรียบเสมือนต้นไม้ต่างเติบโต แก่งแย่งสารอาหาร แข่งกันสูงเพื่อรับแสงแดดบนพื้นที่ที่ไม่อุดมสมบูรณ์ และในท้ายที่สุด ต้นไม้ที่แข็งแรงจะอยู่รอดต่อไป ส่วนต้นไม้ที่ไม่แข็งแรงก็จะเหี่ยวเฉาและตายลงในที่สุด

 

  • ฉากทัศน์ 3 – ร่วมเกื้อกูล

 

เปรียบเสมือนป่าไม้ที่มีระบบนิเวศหลากหลาย แหล่งน้ำและธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ประเทศไทยในวันข้างหน้าเต็มไปด้วยความหลากหลายที่อยู่ร่วมกัน เกื้อกูลต่อกันอย่างยังยืน

 

ขอบคุณรูปภาพจากเพจ The Active

 

🔹พรรคการเมืองตอบรับเสียงมหาชน

 

จากการระดมไอเดียตลอด 48 ชั่วโมง นำมาสู่นโยบายเพื่ออนาคตโดยภาคประชาชน ที่ผ่านกระบวนการ Hackathon จากนั้นก็ดำเนินการนำเสนอต่อพรรคการเมืองเพื่อพิจารณานำไปขับเคลื่อนต่อไป โดยผลตอบรับจากพรรคการเมืองเป็นไปในทางที่ดี และรับปากกับประชาชนตามรายละเอียดดังนี้

 


🔹มิติสังคม

 

  • หยุดความรุนแรง แฝงเร้นในสังคมไทย

 

จากข้อมูลของทีมระบุว่า มีความรุนแรงทางเพศและครอบครัวเป็นภัยคุกคามของประเทศไทยและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เพียงส่วนน้อยของปัญหาที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบให้เกิดความรุนแรงซ้ำ ๆ และส่งผลกระทบทางจิตใจของผู้ถูกกระทำจนปฏิเสธความช่วยเหลือไป อันเนื่องมาจากการแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศและครอบครัวเน้นการไกล่เกลี่ยยอมความกันจนทำให้กระบวนการทางภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพมากพอ และไม่สามารถแก้ได้จริง จึงมีการนำเสนอนโยบายจบความรุนแรงนี้ด้วยการรื้อระบบ จบความรุนแรง ดังนี้ 

 

  1. สร้างระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลกลาง และสามารถประสานการทำงานกันได้ โดยมีสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นหน่วยงานกลาง และอาจมีหน่วยงานอื่นร่วมออกแบบข้อมูลได้
  2. นโยบายเชิงรุก ทำชุดกิจกรรมลดความรุนแรง สร้างสังคมที่ปลอดภัย และแก้กฎหมายให้ประเด็นความรุนแรงเป็นวาระแห่งชาติ โดยให้ผู้ถูกกระทำเข้าถึงการให้ความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพผ่านความร่วมมือของภาครัฐและประชาชน แต่อุปสรรคสำคัญคือการรับรู้และการเข้าถึงของประชาชนยังมีไม่มากพอ จึงไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ 

 

  • Green Space เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ เพิ่มศักยภาพเมือง

 

จากปัญหาพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ จึงมีการเสนอที่นำเอาพื้นที่ของภาครัฐมาทำเป็นพื้นที่ที่สร้างสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และให้ชุมชนร่วมกันออกแบบ นโยบายนี้จะสำเร็จได้ด้วย 5 ฟันเฟืองสำคัญ คือ หน่วยงานบริหารกลาง กองทุนภาษีที่ดิน สภาพลเมือง ที่ดินหรือทรัพยากร และแรงจูงใจ เพื่อนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ได้แก่ การใช้ภาษีประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด การกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่มีส่วนร่วมด้วย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

 

 

🔹มิติเศรษฐกิจ

 

  • ปลดล็อกท้องถิ่นด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

ทางทีมผู้นำเสนอได้อธิบายถึงการเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นด้วยประการแรกคือ รับฟังเสียงของประชาชน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ให้ประชาชนเข้าถึงการออกแบบงบประมาณท้องถิ่นได้ และสนับสนุนโครงการสินค้าและบริการชุมชน ประการที่สอง คือ การเปิดช่องทางการค้าและการลงทุน สนับสนุนสินค้าในชุมชน ลดภาษี กระตุ้นเศรษฐกิจ และการระดมทุนจากประชาชนหมู่มาก ประการต่อมาคือ การเปิดตลาด โดยชุมชนต้องมีข้อมูลทางการตลาด ทราบถึงความต้องการของตลาด เพื่อให้เกิดการพัฒนาให้ตรงกับตลาดโลก และประการสุดท้ายคือ เปิดใจ เข้าใจถึงความแตกต่างของท้องถิ่น วัฒนธรรม แก้กฎหมายเพื่อส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น และสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่กลับไปพัฒนาบ้านเกิด

 

  • แก้หนี้ แก้จน

 

ทีมผู้นำเสนอนโยบายเห็นว่าปัญหาหนี้สิน ความยากจนควรแก้ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน ในทางต้นน้ำแก้ด้วยการสร้างบิ๊กเครดิตเดต้า ข้อมูลบุคคลในกองกลาง เจ้าหนี้ สถาบันการเงิน เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนปล่อยสินเชื่อ และมีกฎหมายส่งเสริมให้สินเชื่อรับผิดชอบให้เกิดขึ้นจริง บังคับใช้ได้จริง แก้วงจรหนี้ให้เบาบางลง ลูกหนี้ต้องชำระหนี้โดยที่ยังมีเงินพอดำรงชีวิต

 

 

🔹มิติสาธารณสุข

 

  • wellness ยิ่งใหญ่ คนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้าเท่าเทียม

 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ การเข้าถึงการรักษาที่ไม่เท่าเทียม โดยในประเทศไทยมีกองทุนสิทธิ์สุขภาพ 3 กองทุน คือ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ทั้ง 3 กองทุนนี้เข้าถึงสิทธิ์การรักษาไม่เท่ากัน ก่อให้เกิดการเสียเปรียบในบางกลุ่ม จึงนำไปสู่แนวทางนโยบายแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีการดังนี้ แก้กฎหมายประกันสังคมพร้อมดึงสิทธิ์การรักษาพยาบาลให้มาอยู่กับบัตรทอง การกระจายงบประมาณมาใช้กับการลงทุนด้านสุขภาพมากขึ้น ปรับสิทธิประโยชน์การกระจายให้เท่าเทียม และเชื่อมระบบเวชระเบียน ข้อมูลสุขภาพข้ามสังกัดกับโรงพยาบาลและคลินิก

 

  • Active Aging : Oldy Health Society

 

สังคมไทยทุกวันนี้กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งเบี้ยคนชรา การอยู่อาศัยอย่างโดดเดี่ยว ความปลอดภัยในการใช้ชีวิต ทางทีมผู้เสนอจึงคิดนโยบายเสนอพรรคการเมือง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ โดยจะมีกองทุนการออมส่วนบุคคลเพื่อเป็นทุนส่วนตัวสำหรับค่าใช้จ่ายและค่าบริการทางสังคม ด้านสุขภาพ เป็นโครงการ 1 ตำบล 1 หน่วยบริการ โดยเพิ่มการดูแลผู้สูงอายุโดดเดี่ยวมากขึ้น ด้านสังคม เป็นการจัดตั้งหน่วยจัดการผู้ช่วยสูงอายุ เพื่อฝึกงาน หารายได้ให้กับผู้สูงอายุ และด้านสภาพแวดล้อม จะมีการส่งเสริมสุขภาพดี ปลอดภัย ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

 


🔹มิติสิ่งแวดล้อม

 

  • อากาศสะอาด หยุด PM 2.5

 

ข้อเสนอที่ได้จากประเด็นนี้คือ ค่าเฉลี่ยคุณภาพอากาศรายวันต้องลดลง และลดการเผาไหม้ลง ซึ่งต้นตอปัญหาดังกล่าวมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด ก่อให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา จึงเสนอกฎหมายอากาศสะอาด และนโยบายพื้นที่ปลอดภัยเพื่อบรรเทาและแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบ่งเป็นระยะสั้น กลาง และยาว กล่าวคือ ในต้นทาง จะมีการจัดตั้งคณะทำงานการควบคุมตลอดทั้งปี ลดไฟป่าในไทยรวมถึงเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ลดฝุ่นข้ามพรมแดน แก้ไขที่ทำกินให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ส่วนปลายทาง จะมีการอุดหนุนเงินให้ประชาชนซื้ออุปกรณ์ ตรวจสุขภาพประชาชน และกระตุ้นให้มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต เก็บภาษีกับการปล่อยมลพิษ

 

  • เศรษฐกิจขยะ (Circular Economy)

 

ประเทศไทยมีขยะต่อปีเฉลี่ยหลายสิบล้านตัน แต่มีการนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณขยะทั้งหมด และต้องใช้งบประมาณในการจัดการขยะปีละ 2 หมื่นล้านบาท ทางทีมที่จัดทำหัวข้อนี้จึงเสนอนโยบายที่ยั่งยืน ด้วยการสร้างอาชีพ จ้างงาน ช่วยกันเก็บแยกขายขยะ สนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทในระบบหมุนเวียนจัดการขยะ พร้อมให้ความรู้ความเข้าใจผลกระทบจากขยะ และให้รัฐกำหนดมาตรการเพิ่มเติม ส่งเสริมการใช้วัสดุรีไซเคิล ควบคู่กับการออกมาตรการจูงใจทางภาษี

 

 

🔹มิติด้านการศึกษา

 

  • คนไทย 3 ภาษา

 

ทางทีมได้เสนอนโยบายเปลี่ยนการนิยาม 3 ภาษา กล่าวคือ ภาษาแรกคือภาษาแม่ ส่วนภาษาที่สองทุกคนมีสิทธิ์นิยามตนเองได้ว่าจะให้ภาษาอะไรเป็นภาษาสากล และภาษาที่สามคือภาษาที่ใช้สำหรับการทำงาน ทำมาหากิน โดยปรับหลักสูตรให้ตรงกับอาชีพและยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งนี้ยังครอบคลุมไปถึงครู โดยจะมีการเพิ่มพูนทักษะ เพิ่มค่าตอบแทนให้สูงขึ้น เพิ่มเวลาระหว่างครูกับเด็กมากขึ้น และสนับสนุนโอกาสการเข้าถึงภาษาให้กว้างขวางขึ้น

 

  • ติดปีกครูไทย

 

ปัจจุบันนี้ครูส่วนใหญ่ในประเทศไทยต่างทำงานอื่นที่นอกเหนือจากการสอนนักเรียน เช่น งานเอกสารต่างๆ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน ทั้งยังทำให้ครูไม่สามารถสอนได้อย่างเต็มที่ ทางทีมผู้นำเสนอจึงคิดนโยบายขึ้น คือ การปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงานของครู ด้วยการตั้ง ปรับ และเปลี่ยน กล่าวคือ การตั้งองค์กรเพื่อช่วยผลักดันนโยบายที่เอื้อต่อครูอย่างแท้จริง ปรับระบบการกระจายอำนาจสู่โรงเรียน เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการออกแบบระบบที่ตอบโจทย์ครูอย่างแท้จริง เช่น ลดภาระงานที่ซ้ำซ้อน และปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สนับสนุนด้านสุขภาพจิตของครู ฯลฯ สุดท้าย คือ เปลี่ยนโรงเรียนให้มีอิสระ สามารถออกแบบหลักสูตรได้ โดยนำวิสัยทัศน์ของครู นักเรียน และผู้บริหารมาหาข้อสรุปร่วมกัน เพื่อให้เกิดระบบที่เอื้อต่อทุกคนในโรงเรียนมากขึ้น

 

 

🔹มิติด้านรัฐ ระบบราชการ

 

  • รัฐของกลุ่มคนที่หลากหลาย

 

ประเทศไทยมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนพิการ และกลุ่มชาติพันธุ์รวมเป็น 25% ของประเทศ แต่ถูกมองเป็นภาระ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย ไม่ได้รับความเท่าเทียม ทางทีมเห็นว่าทุกอัตลักษณ์ทุกความหลากหลายควรได้รับการคุ้มครอง และได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง โดยจัดตั้ง “สภาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพแห่งชาติ” เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับ กสทช. ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยกลไกของเครือข่ายความหลากหลาย กรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เครือข่ายนักวิชาการ และพรรคการเมือง โดยมีเงื่อนไขว่า การจัดตั้งรัฐบาลต้องเป็นไปตามหลักการที่ยอมรับโดยสากล เพื่อให้มีการทบทวนและยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน 

 

  • รัฐทันสมัย โปร่งใส ไร้คอร์รัปชัน

 

ทางทีมผู้นำเสนอต้องการให้มีการใช้กลไกรัฐสภาในการอภิปรายว่าที่รัฐมนตรีก่อนเข้ารับตำแหน่ง การเพิ่มพูนทักษะที่สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น เช่น ความรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อตอบรับกับโลกดิจิทัลในบุคลากรของรัฐ และประชาชน การมีใจรักการบริการ และการประเมินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ยังเสนอให้รัฐปรับกระบวนการทำงานให้ทันสมัย โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ขยายเวลาการให้บริการของภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วม เสนอแนะ ร้องเรียน ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลภาครัฐได้

 

ข้อสรุปที่ได้จากงาน Hack Thailand 2575 เสียงประชาชนจากทุกภาคส่วนต่างเสนอนโยบายที่น่าสนใจและเหล่าพรรคการเมืองต่างตอบรับนโยบายของประชาชนไปปรับใช้กับนโยบายพรรคเป็นอย่างดี ต่อจากนี้อนาคตประเทศไทยจะเปลี่ยนไปเช่นไรในอีก 10 ปีข้างหน้า เริ่มต้นที่ปลายปากกาของเรา ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ อย่าลืมไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง และสามารถติดตามการเลือกตั้งในครั้งนี้ผ่านเว็บไซต์ของไทยพีบีเอส www.thaipbs.or.th/Election66 (คลิก)

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Hackathon, 
#HackThailand, 
#HackThailand2575, 
#เลือกตั้ง66, 
#ประเทศไทย, 
#อนาคตประเทศไทย, 
#พรรคการเมือง, 
#ประชาชน, 
#สังคม, 
#สาธารณสุข, 
#สิ่งแวดล้อม, 
#ระบบราชการ, 
#การศึกษา 
ผู้เขียนบทความ
avatar
Chayanin C
yun
nerdy girl ผู้สนใจใน Kpop ตัวยง รักการนอนและการกินเป็นชีวิตจิตใจ สีเหลือง? เยลโล่ว มะม่วง? แมงโก้
ALTV CI
StayInspired
StayInspired
ALTV All Around
ผู้เขียนบทความ
avatar
Chayanin C
yun
nerdy girl ผู้สนใจใน Kpop ตัวยง รักการนอนและการกินเป็นชีวิตจิตใจ สีเหลือง? เยลโล่ว มะม่วง? แมงโก้
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#Hackathon, 
#HackThailand, 
#HackThailand2575, 
#เลือกตั้ง66, 
#ประเทศไทย, 
#อนาคตประเทศไทย, 
#พรรคการเมือง, 
#ประชาชน, 
#สังคม, 
#สาธารณสุข, 
#สิ่งแวดล้อม, 
#ระบบราชการ, 
#การศึกษา 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา