“แผ่นดินไหว เป็นภัยธรรมชาติ ที่ไม่สามารถทำนายการเกิดล่วงหน้าได้ในทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้นจึงยากที่จะสื่อสารกับคนทั่วไปได้อย่างชัดเจน สิ่งที่ทำได้คือการบอกว่าบริเวณไหนมีความเสี่ยง เพื่อให้ประชาชนมีการเตรียมความพร้อม เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย”
สัณฑวัฒน์ สุขรังษี นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ กล่าวว่า ผลกระทบจากแผ่นดินไหว หากมีความรุนแรงอาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต จากการพังทลายของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ และเกิดความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบประปา ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร บางพื้นที่อาจมีไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดอัคคีภัย ทำให้ประชาชนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และส่งผลต่อภาวะจิตใจของผู้ที่ประสบเหตุได้ แต่การเตรียมพร้อมและเอาตัวรอดจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างปลอดภัย จะทำให้ประชาชนมีแนวปฏิบัติในการป้องกัน ลดผลกระทบและลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
แผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน เนื่องจากการปลดปล่อยพลังงาน ที่สะสมไว้ภายในเปลือกโลกออกมา เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ ยังไม่สามารถทำนายเวลา สถานที่ และความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังนั้นจึงควรศึกษา เรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจถึงกระบวนการเกิดของแผ่นดินไหวที่แท้จริง เพื่อเป็นแนวทางในการลดความเสียหายที่เกิดขึ้น
สัณฑวัฒน์ ระบุว่าการเกิดแผ่นดินไหวมาจาก 2 สาเหตุใหญ่ คือ จากการกระทำของมนุษย์ได้แก่ การทดลองระเบิดปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อน และแรงระเบิดจากการทำเหมืองแร่ ส่วนสาเหตุที่สอง เป็นการเกิดตามธรรมชาติ เนื่องจากการเคลื่อนที่ของแผ่นเปลือกโลก ทั้งนี้ทฤษฎีกลไกการเกิดแผ่นดินไหวในปัจจุบันคือ ทฤษฎีว่าด้วยการขยายตัวของเปลือกโลก โดยแผ่นดินไหวเกิดจากการที่เปลือกโลก เกิดการคดโค้งโก่งตัวอย่างฉับพลัน เมื่อวัตถุขาดออกจากกัน จึงปลดปล่อยพลังงาน ออกมาในรูปคลื่นแผ่นดินไหว
สำหรับแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหว หรือบริเวณตำแหน่งศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะอยู่ตรงบริเวณขอบหรือรอยตะเข็บของแผ่นเปลือกโลก กรณีของประเทศไทย และสุมาตรา อินโดนีเซีย แนวแผ่นดินไหวโลกที่ใกล้ ๆ ได้แก่ แนวเกาะอันดามัน-นิโคบา ในมหาสมุทรอินเดีย หรือแนวรอยเลื่อนต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย ได้แก่ แนวรอยเลื่อนมีพลังในประเทศ และแนวรอยเลื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า จีนตอนใต้ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และบริเวณที่มนุษย์มีกิจกรรมกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหว เช่น การทดลองระเบิดเขื่อน บ่อน้ำมัน เป็นต้น
“แนวแผ่นดินไหวบนโลก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามแนวตะเข็บรอยต่อของแผ่นธรณีภาค โดยเฉพาะรอยต่อที่เป็นการรวมตัวหรือเป็นบริเวณที่มีการมุดของแผ่นธรณีภาค ดังนั้นพื้นที่รอยเลื่อนที่มีพลัง และเป็นตะเข็บรอยต่อของแผ่นธรณีภาคจะทำให้ภูมิลักษณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวพื้นที่จะมีการเคลื่อนที่ทั้งในแนวดิ่งและในแนวราบ เปลี่ยนสภาพหรือรูปลักษณ์ของพื้นที่ไปจากเดิม มีการเกิดรอยแตก รอยแยกบนพื้นดิน มีการเกิดแผ่นดินถล่ม จึงทำให้หินในพื้นดิน ภูเขา พังทลายลงสู่ที่ต่ำ”
นอกจากนี้ สัญญาณบอกเหตุก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หรือปรากฏการณ์ล่วงหน้า (Precursory phenomena) อาจเป็นสิ่งเตือนภัยหรือลางบอกเหตุหรือส่งสัญญาณให้รู้ว่าอีกไม่นานจะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น ในอเมริกา รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ต่างให้ความสนใจ พยายามค้นคว้า วิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์บางอย่างได้แก่ 1.พื้นดินเกิดการยกตัวขึ้นมาอย่างผิดปกติ 2.ค่าความเข้มสนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนแปลงไป 3.สภาพการนำไฟฟ้าของหินเปลี่ยนแปลง 4.เกิดแผ่นดินไหวเล็กๆ เกิดขึ้นเป็นการเตือนภัยก่อน 5.มีปริมาณก๊าชเรดอนในบ่อน้ำ สูงกว่าปกติ
การกำหนดตำแหน่งของแผ่นดินไหวและการตรวจวัด โดยใช้เครื่องตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวเรียกว่า ไซสโมมิเตอร์ (seismometer) โดยข้อมูลจะถูกบันทึกลงและแปรผล เพื่อให้ทราบถึงลักษณะของวัตถุที่คลื่นเคลื่อนผ่านมา ซึ่งการวัดแผ่นดินไหวนิยมวัดอยู่ 2 แบบ คือ การวัดขนาด (magnitude) และการวัดความรุนแรง (intensity) การวัดขนาดเป็นการวัดกำลัง หรือพลังงานที่ปลดปล่อยในการเกิดแผ่นดินไหว ส่วนการวัดความรุนแรงเป็นการวัดผลกระทบของแผ่นดินไหว ณ จุดใดจุดหนึ่งที่มีต่อคน โครงสร้างอาคาร และพื้นดิน “มาตรา” วัดแผ่นดินไหวมีอยู่หลายมาตรา ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะที่นิยมใช้ทั่วไป 3 มาตรา ได้แก่ มาตราริกเตอร์ มาตราเมอร์แคลลี และมาตราการวัดขนาดโมเมนต์ แต่ที่นิยมใช้คือมาตราริกเตอร์
มาตราริกเตอร์ เป็นการวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหวได้จากการคำนวณปริมาณพลังงานที่ถูกปล่อยออกมาจากศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว โดยวัดจากความสูงของคลื่น (amplitude) จากเส้นไซสโมแกรม ซึ่งแอมพลิจูดยิ่งสูงเท่าไร ก็เท่ากับพื้นดินสะเทือนมากเท่านั้น หรือแผ่นดินไหวรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น วิธีการนี้ ชาร์ล เอฟ ริกเตอร์ ผู้คิดค้น และคำนวณออกมาเป็นสมการลอกกาลิธึม เพื่อคำนวณหาระดับขนาดต่างๆ โดยใช้หลักการจากผลบันทึกของเครื่องวัดความไหวสะเทือน และมีการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับระยะทางจากศูนย์เกิดแผ่นดินไหว ได้ผลลัพธ์ออกมาจนเป็นมาตราที่เรียกว่า มาตราริกเตอร์ (Richter scale) ซึ่งมีขนาดตั้งแต่ 0-9 มาตราที่ใช้กันทั้งสองวิธีนี้ใช้เปรียบเทียบ หรือวัดขนาดแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆ ได้
“สัญชาตญาณของสัตว์ ก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหว พบว่าหากสัตว์ป่ามีพฤติกรรมผิดไป จากปกติมักจะเกี่ยวข้อง กับการเกิดภัยธรรมชาติเช่น แผ่นดินไหว ทั้งนี้เพราะสัตว์มีความสามารถรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดแผ่นดินไหว เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งในการเอาชีวิตรอด”
เช่น นก ซึ่งมีความรู้สึกไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะนกพิราบป่า มีความไวเป็นพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวประเทศจีนพบว่าขณะเกิดแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือน 3 ริกเตอร์ขึ้นไป ฝูงนกพิราบป่าที่อยู่ภายในรัศมี 50 กิโลเมตร จากศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะรู้ล่วงหน้าและบินหนีไปภายใน 24 ชั่วโมง ขณะที่พฤติกรรมของปลา ก่อนเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ปลาคาร์ฟจะกระโดดขึ้นบนผิวน้ำ เหมือนตกใจอะไรบางอย่าง ส่วนพฤติกรรมสัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ใต้ดิน เมื่อรู้สึกถึงความผิดปกติมักจะหลบภัยด้วยการเลื้อยขึ้นมาบนดิน
ส่วนอุปกรณ์ในการเตรียมพร้อมรับมือ ก่อนเกิดแผ่นดินไหว ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย กระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้นสูงๆ เพราะเมื่อแผ่นดินไหวอาจตกลงมาเป็นอันตรายได้ ผูกเครื่องใช้หนักๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน สร้างอาคารบ้านเรือนที่มีความมั่นคงแข็งแรงสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว
นอกจากนี้ ประชาชนที่กำลังเดินทางขณะเกิดแผ่นดินไหวควรปฏิบัติตัว อย่างแรกคือ การตั้งสติพยายามอย่าแตกตื่นใจ หากอยู่ในห้องควรหลบอยู่ อย่าอยู่ใกล้หน้าต่างหรือกระจก แต่หากอยู่ในที่โล่งควรหมอบอยู่กับพื้น ไม่ควรอยู่ใต้ต้นไม้หรือสายไฟ งดการใช้ลิฟท์ภายในอาคาร กรณีเกิดแผ่นดินระหว่างขับรถให้รีบจอดด้วยความระมัดระวัง เมื่อเหตุแผ่นดินไหวสิ้นสุด ควรติดตามข่าวสารจากหน่วยงานราชการ หลังมีการประกาศสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ เข้าตรวจสอบสภาพบ้านเรือน พร้อมขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการซ่อมแซมและเสริมความแข็งแรงของอาคารบ้านเรือน
“แม้นานๆ ครั้งแผ่นดินไหวจะส่งผลกระทบและความเสียหายอย่างหนักในประเทศไทย แต่หากในหลายพื้นที่สามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนเกือบทุกๆ ครั้งที่เกิดขึ้น อาจต้องย้อนมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่คนไทยจะต้องตื่นตัวและเตรียมรับมือกับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในอนาคต”