บุหรี่ไฟฟ้า กลายเป็นภัยคุกคามล่าสุดที่ส่งผลให้ ศธ. เร่งผลักดันให้ โรงเรียนเป็น “พื้นที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า” แถมคาดโทษวินัยครูและบุคลากร ที่ปล่อยปละละเลย แม้ครูจำนวนไม่น้อยจะเห็นปัญหาและพยายามกวดขัน แต่ก็ไม่มีอำนาจในจัดการโดยตรง
เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงศึกษาธิการ หรือ ศธ. ได้เผยแพร่ข่าวความคืบหน้า ในการเอาจริงเอาจังกับการจัดการบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา โดยพุ่งเป้าให้ครู บุคลากร ในรั้วโรงเรียน ต้องรับผิดชอบต่อการดูแลปัญหา ด้วยการคาดโทษวินัย
นี่เป็นการยกระดับมาตรการคุมเข้มไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าแพร่ระบาดในโรงเรียน แต่นโยบายเร่งด่วนและคาดโทษแบบนี้ จะได้ผลมาก-น้อยแค่ไหน ? ยังเป็นคำถามสำหรับครูที่อยู่หน้างาน และผู้ปกครองที่ติดตามปัญหานี้อย่างใกล้ชิด
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารสถานศึกษาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เพื่อสะท้อนความรู้สึกของคุณครูบนเส้นทางการทำให้ โรงเรียน กลายเป็น พื้นที่ปลอดบุหรี่ไฟฟ้าแบบเร่งด่วน
อินทุอร โควังชัย รองผู้อำนวยการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ รร.สนามบิน จ.ขอนแก่น
“ถ้าสงสัย ต้องให้เด็กยอมเปิดกระเป๋า ครูหรือพสน. ไม่มีสิทธิ์ค้นเอง ”
สังคมไทย รู้จัก “สารวัตรนักเรียน” กันมานานมากแล้ว โดยเฉพาะบทบาทการกำกับติดตาม ตรวจค้น และนำตัวนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่เข้าข่ายเสี่ยงกลับเข้าโรงเรียน ปัจจุบัน เราเรียกเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา (พสน.)
ไม่ใช่แค่ชื่อที่เปลี่ยนไปเท่านั้น แต่บทบาทและอำนาจก็เปลี่ยนไปด้วย ยกตัวอย่าง หากสงสัยว่า เด็กนักเรียนคนไหนพกพาสิ่งของต้องห้าม หรือ นำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในโรงเรียน พสน. ไม่มีอำนาจในการตรวจค้น ต้องให้เด็กเป็นผู้ยินยอม
ถ้าเด็กไม่ยอม พสน.จะค้นได้ไหม? นี่เป็นหนึ่งในปัญหาเบื้องต้นของการนำนโยบายเร่งด่วนของ ศธ. ไปปฏิบัติ และกลายเป็นความกังวลของคุณครู เพราะมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะถูกคาดโทษ หรือ อาจถูกลงโทษทางวินัย หากพบบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน
“ทุกวันนี้ เราก็ใช้มาตรการเข้มข้น แต่การตรวจค้นก็ยังเจอนักเรียนพกบุหรี่ไฟฟ้ามาจากบ้าน” เป็นเสียงสะท้อนจากรองผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่เห็นแนวโน้มของการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ขยายตัวไปทุกระดับชั้นตั้งแต่เด็กประถม ถึง มัธยมฯ
“ที่เราเคยพบ ถ้าเป็นเด็กประถมฯ เขาจะบอกว่า นี่เป็นของพ่อแม่ผู้ปกครอง แค่อยากเอามาโชว์เพื่อนว่า เขาก็มีนะ ส่วนพี่มัธยมฯ ส่วนใหญ่อยากลอง แถมหาซื้อง่ายจากเพื่อนๆ”
การสำรวจปัญหาจากคำบอกเล่าของเด็กๆ ที่โรงเรียน ยืนยัน บุหรี่ไฟฟ้า ใกล้ตัวเด็กมาก มีขายเกลื่อนทางออนไลน์ การให้ครูทำหน้าที่สอดส่องรอบๆ โรงเรียน แล้วแจ้งตำรวจที่มีอำนาจตามกฎหมายมาจับกุมตามแบบเดิม ไม่เท่าทันกับสถานการณ์การซื้อขายทางออนไลน์
ก่อนจะมีนโยบายเร่งด่วนให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อโรงเรียนตรวจพบจะใช้วิธีทำความเข้าใจกับเด็กๆ ส่วน บุหรี่ไฟฟ้า ที่ยึดเอาไว้ก็นำส่งตำรวจท้องที่ทันที เนื่องจาก เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ต่อมาตำรวจแนะนำว่า ไม่ต้องนำส่งทุกวันให้โรงเรียนเก็บรวบรวมเอาไว้เมื่อมีจำนวนมากพอค่อยเอามาให้ตำรวจ แต่ล่าสุด พบว่า โรงเรียนเองก็ไม่มีอำนาจไปเก็บบุหรี่ไฟฟ้าเอาไว้ในครอบครอง
“พสน. บอกว่า ครูไม่มีอำนาจจะเก็บเอาไว้ ทีนี้ครูเลยสับสน กังวล ถ้าเจอแล้วยึดแล้ว ต้องทำยังไงต่อ?”
อีกวิธีที่เราใช้ในการจัดการปัญหานี้ คือ แจ้งผู้ปกครองรับทราบถึงปัญหาของเด็กเป็นรายคน และให้ยอมรับสภาพที่จะเกิดขึ้นหากมีการทำผิดซ้ำ ขณะที่โรงเรียนก็เพิ่มเรื่องนี้เข้าไปในช่วงอบรมตอนเข้าแถว หรือ โฮมรูม
“ที่น่าคิดคือ ห้ามไม่ให้นำเข้า ห้ามขาย ครอบครอง แล้วทำไมถึงยังสะดวกซื้อ”
รอง ผอ.อินทุอร ย้ำว่า ถ้ามีมาตรการในการห้ามผู้ใหญ่ที่ขายและครอบครองได้ การเรียนรู้เพื่อรับมือกับภัยจากบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลังครู
“คุณพ่อบางท่านก็ยอมรับกับเราว่า เป็นของเขาจริงๆ เขาคิดไม่ถึงว่า ลูก(ประถม)จะเอาไปอวดเพื่อนที่โรงเรียน ที่เราเป็นห่วงและต้องป้องกัน ก็คือ การเปลี่ยนจากอวดไปเป็น ลองสูบ”
ตอนนี้ เด็กๆ ถูกทำให้เข้าใจว่า บุหรี่ไฟฟ้า หรือ พอด ไม่อันตราย ไม่ต่างอะไรกับขนมชิ้นหนึ่ง
“เราเคยเจอ เด็ก ป.1 วิ่งมาบอก ครูๆ ผมเจอพอด” ครูถามหนูรู้จักได้อย่างไร เด็กตอบ “เคยเห็น พี่สูบในห้องน้ำ พี่เขาเรียก พอด”
การตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อออนไลน์ ทำให้ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย เห็นว่า ไม่มีอันตราย และเมื่อเทียบกับบุหรี่มวนแบบเดิม “พอด” ก็ถูกปรับรูปลักษณ์ใหม่ให้เหมาะกับความชอบ รสนิยมของแต่ละคนมากขึ้น ดังนั้น “ผู้ปกครอง” ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันต้องมองให้เห็นผลกระทบระยะยาวด้วยว่า นี่คือ การสร้างความรับรู้ และเข้าใจให้เด็กๆ ซึ่งในอนาคต อาจกลายเป็น “นักสูบหน้าใหม่” ที่กลุ่มธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้าต้องการ
บทความโดย
พรวดี ลาทนาดี : ศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและการเรียนรู้ ไทยพีบีเอส