“นี่แค่ ยอดภูเขาน้ำแข็ง พูดแบบนี้คงไม่ผิด สำหรับการพบผู้ใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นเด็กและเยาวชนมากขึ้น แต่ถ้าเรายังไม่ทำอะไร อีก 1-2 ปีข้างหน้า ฐานน้ำแข็งจะขยายขึ้น วันนั้นเราอาจรับมือไม่ไหวอีก”
นี่คือ ช่วงหนึ่งของการพูดคุยกับ นายแพทย์เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง กุมารแพทย์ด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ที่นิยามตัวเองว่า เป็นหมอที่ร้องเพลงได้นิดหน่อย ที่พยายามต่อสู้เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยเด็กจากบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยหวังจะป้องกัน “ปอดและมันสมองของประเทศ” เอาไว้ให้ได้ ขณะที่นักวิชาการอิสระ ระบุว่า เรากำลังเผชิญหน้ากับนวัตกรรมที่นำสารเสพติดเข้าสมองภายใน 7 วินาที
“วันนี้หนูเป็นยังไงบ้าง เดี๋ยวลองไปเอ็กซเรย์ปอดก่อน ผลการตรวจมีฝ้าที่ปอด หนูเคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าหรอลูก ใช้มาแล้วกี่ปี” ประโยคเหล่านี้ดังขึ้นซ้ำๆ สม่ำเสมอ ในคลิปวีดิโอที่ นายแพทย์เพียรศักดิ์ แซ่หว่อง กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี มักโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์
วันนี้ ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจของคุณหมอ เปลี่ยนไปเป็นเด็กและเยาวชนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ และมีความข้องเกี่ยวกับการใช้ “บุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งคุณหมอ ประเมินว่า ตั้งแต่ ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เด็กๆ ต้อง
หยุดอยู่บ้านและชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโลกออนไลน์ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กไทย
“จากการสืบประวัติผู้ป่วยเด็ก เขาบอกว่า ตอนนี้ สั่งของทางออนไลน์ให้มาส่งพัสดุที่หน้าโรงเรียน เด็กๆ ก็ออกไปรับต่อหน้าครู ครูไม่มีทางรู้เลยว่า ในนั้น คือ บุหรี่ไฟฟ้า” คุณหมอเพียรศักดิ์ ให้ข้อมูล
แหล่งข่าวที่เป็นนักวิชาการที่เคยติดตามความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมยาสูบ บอกว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีมานานแล้ว แต่ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และแพร่หลายในกลุ่มเด็กและเยาวชน กระทั่งต่อมา มีบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมบุหรี่ระดับโลกมาขอซื้อลิขสิทธิ์ และกิจการจากบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสหรัฐอเมริกา คือ ความสามารถในคิดค้นนวัตกรรม การนำสาร “นิโคติน” เข้าสู่สมองได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ 7 วินาทีหลังสูบ ไอนิโคติน จะเข้าสู่ระบบประสาทในสมองทำให้เกิดความสุข สมองจะจดจำสิ่งนี้ และต้องการใช้ซ้ำอีกครั้ง
หนึ่งในหลักฐานที่เป็นรูปธรรมในการทำงานของ “นิโคติน” ในบุหรี่ไฟฟ้า คือ ผู้ป่วยเด็ก ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นๆ
ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี มีเด็กที่ป่วยด้วยอาการทางระบบทางเดินหายใจและมีประวัติเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า 6 คน ครึ่งหนึ่งไม่สามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง ต้องใช้ท่อช่วยหายใจ และพักรักษาตัวอยู่ในห้อง ไอซียู ไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ส่วนเด็กๆ อีกนับสิบคนที่เข้ามาขอรับคำปรึกษา ในจำนวนนี้ 5 คนมีอาการไอหนักจนนอนไม่ได้ 3 คนมีภาวะเหนื่อยง่าย และ 2 คน เริ่มไอมีเสมหะ
“หมอคุยกับคนไข้ที่มาเจอหมอ พวกเขาเป็นเด็กเปราะบาง อยู่กับปู่ย่า ตายาย หรือไม่ก็พ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่มีใครดูแล ไม่มีใครช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน” นี่เป็นจุดที่ทำให้คุณหมอเพียรศักดิ์ ตัดสินใจ ไม่รอตั้งรับเด็กป่วยในโรงพยาบาลอย่างเดียว แต่เปลี่ยนเสื้อกาวน์เป็นเสื้อยืด เปลี่ยนเข็มฉีดยาเป็นไมค์ เดินหน้าเข้าโรงเรียนเพื่อทำกิจกรรมป้องกันภัยคุกคามปอดและสมองของเด็กๆ
ท่ามกลาง การประกาศสงครามกับบุหรี่ไฟฟ้าของรัฐบาล และความขึงขังของกระทรวงศึกษาที่ต้องการยกระดับมาตรการคุมเข้มบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน ถึงขั้นคาดโทษและลงโทษทางวินัยหากมีครูเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งเรื่องนี้ ทำให้ครูจำนวนไม่น้อยออกมาแสดงความเห็นว่า พวกเขาเป็นแค่ “ปลายทาง”
คุณหมอเพียรศักดิ์ ที่ทำงานป้องกันบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับโรงเรียน ยืนยัน “ครูทำเรื่องนี้กันมาหลายปีแล้ว แต่ข้าศึก (บุหรี่ไฟฟ้า) มาทุกทิศทุกทาง ถ้าจะแก้ก็ต้องหยุดที่ต้นทาง คือ การนำเข้า ถ้าเรือรั่วต้องอุดรูรั่ว ไม่ใช่ให้ครูเป็นคน ตักน้ำออกจากเรือ”
คุณหมอเปรียบเทียบสถานการณ์การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เหมือนกับ หยดน้ำหมึกลงในแก้วน้ำ หมึกกระจายตัวมาสักระยะ แต่เรากำลังบอกให้ ครู เอากระชอนไปช้อนหมึกออก
บุหรี่ไฟฟ้าขายนิโคตินที่เป็นสารเสพติดที่อยู่ข้างใน เราไม่มีวัคซีนอะไรมาป้องกัน แต่คุณหมอกับครูในโรงเรียน สร้างวัคซีนขึ้นจาก “ความรักและปรารถนาดี”
คุณหมอ ผู้นิยามตัวเองว่า “เป็นหมอที่ร้องเพลงได้นิดหน่อย” เล่าวิธีการทำงานกับเด็กๆ ในวัยอยากรู้อยากลองว่า ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน ต้องไม่ทำตัวเป็นหมอที่ยืนบรรยายตามสไลด์ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างไร? อันตรายแค่ไหน ? แต่ต้องคิดค้นกิจกรรมที่สร้างการมีส่วนร่วมทำให้เด็กค่อยๆ เปิดใจ และเชื่อมั่นว่า ตัวเองสามารถเรียนรู้เพื่อป้องกันภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าได้
“ตัวอย่างหนึ่งที่หมอใช้ เป็น Story telling เล่าให้เด็กๆ ประถมอายุ 8-9 ขวบฟังว่า ตอนนี้ กำลังมีเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกับเขาป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้า หมอเอาเรื่องจริงมาเล่า ผสานเทคนิคการพูด แววตาของเด็กๆ จะเปลี่ยน”
หมอบอกว่า วัคซีนที่สร้างจากความรักและความปรารถนาดี ผ่าน เรื่องเล่าของเพื่อนๆ ที่ป่วยจะทำให้เด็กๆ ได้มีโอกาสคุยกับด้านในของตัวเอง และเขาจะกลับไปคุยกับครู คุยกับครอบครัว คุยกับที่บ้าน
เราพูดกันมาเยอะว่า ต้องปราบ ต้องป้องกัน ต้องรักษาเด็กป่วย แต่ที่ลืมพูด คือ ถ้าติดแล้วอยากเลิกจะทำอย่างไร ?
“จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีคลินิกเลิกบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะสำหรับเด็ก” หมอเพียรศักดิ์ ยืนยันความจำเป็น เนื่องจากเคสของเด็กป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เข้ารับการรักษา จะเห็นความคาดหวังต่างกัน พ่อแม่ผู้ปกครองต้องการให้เลิก แต่เด็กบางคนยังตอบไม่ได้ว่า จะเลิกได้หรือไม่ เราไม่มีกระบวนการให้คำปรึกษาและคำแนะนำทางวิชาการที่ถูกต้องสำหรับเด็กและผู้ปครอง
นี่ยังไม่ต้องพูดถึง เด็กที่ยังไม่ป่วยแต่อยากเลิก พวกเขาอาจตัดสินใจไปบนความเสี่ยงด้วยการไปหาซื้อยา เลิกนิโคตินเอง และอาจเกิดอันตรายหากมีการใช้ยาโดยขาดการแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร
คุณหมอเพียรศักดิ์ ชี้ว่า เมื่อเด็กใช้บุหรี่ไฟฟ้าจนติด จะมีความเสี่ยงสมองเสื่อม หน่วยความจำเสื่อมจนเรียนไม่ได้ ขณะเดียวกัน ยังพบว่า มีผลต่อพฤติกรรมไปในทางลบ เพราะ “ไม่ว่าจะโศกเศร้าหรือไม่ ก็มักปรากฎพฤติกรรมที่ก้าวร้าว”
เด็กบางคน รักษาตัวจนหายกลับบ้านได้ แต่ยังต้องรักษาต่อเนื่องในระยะยาว ไม่ต่ำกว่า 1-2 เดือน เพราะ ยังใช้ชีวิต ทำงานบ้านไม่ได้ เพราะ เกิดภาวะปอดเรื้อรัง คล้ายกับ เกิดภาวะถุงลมโป่งพองในเด็ก เท่ากับเรากำลังจะเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในเด็กอีกมาก
คุณหมอเพียรศักดิ์ ประเมินว่า หากวันนี้ระบบการป้องกันการนำเข้า ซื้อขาย ตั้งแต่ต้นทาง และการบำบัดที่ปลายทางยังไม่เกิด อีกไม่เกิน 1-2 ปี เราอาจจะได้เห็น คลื่นผู้ป่วยเด็กจากบุหรี่ไฟฟ้า ที่มหาศาลเกินกว่าบุคลากรทางการแพทย์และงบประมาณรัฐจะรองรับไหว
บทความโดย พรวดี ลาทนาดี ศูนย์สื่อสาธารณะเพื่อเด็กและการเรียนรู้ ไทยพีบีเอส