ท้องฟ้าก็เป็นสิ่งมนุษย์เราคอยเฝ้าสังเกตมาตลอด ตั้งแต่การจดจำและบันทึกตำแหน่งกลุ่มดาว ไปจนถึงการใช้บอกเวลา เข็มทิศนำทาง ที่ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้น รู้ตัวอีกที “ดวงดาว” ที่อยู่ไกลแสนไกล ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว วันนี้ ALTV จึงอยากพาเพื่อน ๆ มาเรียนรู้ถึงความสำคัญของดวงดาวที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันว่าแท้จริงมีความสำคัญ และใกล้ตัวเรากว่าที่คิด
“We are made of stardust” เราทุกคนเกิดจากละอองดาว ประโยคสุดครีเช่ โดย คาร์ล เซแกน (Carl Sagan) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ผู้เขียน “Cosmos” หนังสือขายดีที่สุดตลอดกาล
ทำไมเซแกนถึงบอกไว้แบบนั้น? คำกล่าวของเขาสรุปข้อเท็จจริงได้ว่า ในร่างกายของคนเรานั้นประกอบไปด้วยธาตุหลายชนิด หนึ่งในธาตุที่สำคัญมากคือ ออกซิเจน ที่อยู่ในรูปแบบของน้ำประมาณ 60% คาร์บอน 18% จากอากาศที่เราหายใจ และไฮโดรเจนอีก 10% ธาตุเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของการกำเนิดสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่แค่มนุษย์เรา แต่รวมไปถึงสัตว์อื่น ๆ บนโลกด้วย
ย้อนกลับไปหลังจากการะเบิดบิ๊กแบง (Bigbang) จุดเริ่มต้นของระบบสุริยะของเรา “อะตอมไฮโดรเจน” ธาตุที่เบาสุด และพบมากที่สุดในเอกภพได้ถือกำเนิด และราว ๆ ไม่กี่ร้อยปีนับจากนั้นมันก็ได้รู้จักกับ “แรงโน้มถ่วง” และได้หลอมรวมกันเป็นธาตุใหม่ เช่น “ฮีเลียม” และธาตุที่หนักกว่าอื่น ๆ ตามลำดับ เช่น คาร์บอน ไนโตรเจน ออกซิเจน เหล็ก ฯลฯ และเมื่อถึงจุดที่มีความหนาแน่นมากพอ ในที่สุดก็เกิดขึ้นเป็นดวงดาว
แน่นอนว่าดาวทุกดวงมีอายุขัยมากน้อยต่างกัน เมื่อถึงเวลาที่บางดวงสิ้นอายุขัย มันจะระเบิดครั้งใหญ่ เรียกว่า "ซุปเปอร์โนวา (Supernova)" หรือที่เรียกกันหรู ๆ ว่า "มหานวดารา" ซึ่งการระเบิดนี่แหละ ที่ทำให้เกิดฝุ่นอวกาศ หรือละอองดาว (Stardust) ซึ่งบางส่วนรวมตัวกันเป็นธาตุ สสารใหม่ บางส่วนหลอมรวมเกิดเป็นดาวดวงใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ว่า ไฮโดรเจนและธาตุอื่น ๆ ในร่างกายคนเราที่มีอายุเก่าแก่พอ ๆ กับจักรวาล จะมีต้นกำเนิดมาจากดาวที่ตายแล้วนั่นเอง
คุณอาจชอบมองท้องฟ้าเวลาเหงา หรือตอนคิดถึงใครบางคน แต่สำหรับมนุษย์ในยุคโบราณแล้ว การมองท้องฟ้าถือเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของพวกเขาเลยก็ว่าได้
หลังจากสังเกตได้ว่าภัยพิบัติ หรือฤดูกาลต่าง ๆ มักเกิดขึ้นพร้อมกับดาวบางดวง การแหงนหน้ามองฟ้าบ่อย ๆ จึงเป็นวิธีที่ทำให้คนโบราณรู้ว่าช่วงไหนพวกเขาควรเพาะปลูก ช่วงไหนควรเก็บเกี่ยว และช่วงไหนควรออกหาเสบียง เพื่อสะสมไว้ในฤดูอากาศหนาวเย็น ความสนใจเกี่ยวกับท้องฟ้าของคนเรา ส่วนหนึ่งก็เพื่อการเตรียมพร้อมรับมือ และวางแผนการใช้ชีวิตนั่นเอง
พวกเขาจะคอยเฝ้าดู จดบันทึกการโคจรของวัตถุบนท้องฟ้า รวมทั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ จนกระทั่งได้รู้เรื่องวิถีการโคจรของดวงจันทร์ หรือ ปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรม (The phase of the moon) ด้วยองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นนี้ ในยุคเมเสโปเตเมีย “ชาวบาบิโลนเนียน” ได้คิดค้นระบบการนับวันแบบปฏิทินได้สำเร็จ จากการนับตามการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ ที่เรียกว่า “ปฏิทินจันทรคติ” ที่ใน 1 ปี มีทั้งหมด 12 เดือน เป็นก้าวแรกของนวัตกรรมบอกวันเวลาของโลก
หลังจากนั้นปฏิทินก็ได้รับการพัฒนาให้แม่นยำเรื่อยมา ตั้งแต่ปฏิทินสุริยคติ ของชาวอียิปต์โบราณ ที่กำหนดให้ 1 ปีมี 12 เดือน 1 เดือนมี 30 วัน, ปฏิทินจูเลียนในสมัย จูเลียส ซีซาร์ ตลอดจนในยุคสมัยของสันตะปาปาเกรเกอรีที่ 13 ที่ได้ปฏิรูปใหม่อีกครั้งจนเกิดเป็น “ปฏิทินเกรโกเลียน” แม่แบบปฏิทินที่ทั่วโลกใช้กันอยู่ในทุกวันนี้
ไม่ต้องพึ่งเข็มทิศหรือแผงโซนาร์ ชาวเรือสมัยโบราณก็สามารถรู้จุดหมายได้ แม้จะอยู่กลางมหาสมุทร จากการการใช้ดวงดาวเป็นเครื่องมือนำทาง
ก่อนที่โลกจะได้รู้จักกับเทคโนโลยีนำทางล้ำ ๆ ที่ทำให้การเดินทางเป็นเรื่องง่าย “การเดินเรือดาราศาสตร์ (Celestial Navigation)" เป็นวิธีดั้งเดิมที่มนุษย์เราใช้ในการหาทิศทางในมหาสมุทร โดยอิงจากวัตถุบนท้องฟ้าไม่ว่าจะเป็น ดาวฤกษ์ ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ ประกอบกับการสังเกตและการคำนวณเพื่อหาตำแหน่งเชิงพื้นที่ ในมหาสมุทรที่ไม่มีจุดสังเกตอะไรนอกจากพื้นน้ำ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเป็นนักเดินเรือในสมัยนั้น เพราะจำเป็นต้องมีความชำนาญและประสบการณ์สูง เพียงแค่มีสกิลการบังคับเรือเท่านั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องเข้าใจเรื่องดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ อีกด้วย
มีดวงดาวมากกว่า 100 ดวง ที่สามารถใช้นำทางได้ ในตอนกลางคืนกลุ่มดาวสำคัญในการหาทิศในท้องทะเล หลัก ๆ คือ "ดาวเหนือ (Polaris)" ด้วยความที่อยู่ใกล้กับแกนหมุนของโลก และชี้ไปสู่ท้องฟ้าพอดี ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นดาวที่ไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน เหมาะกับการใช้แทนเข็มทิศได้อย่างดี
แต่การมองหาดาวเหนือไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะจริง ๆ แล้วมันไม่ได้สว่างจนสังเกตเห็นได้ง่ายขนาดนั้น แม้กระทั่งนักเดินเรือที่มีประสบการณ์ก็อาจหาตำแหน่งของมันไม่เจอ ถ้าวันไหนท้องฟ้าปกคลุมไปด้วยเมฆ ด้วยเหตุนี้ชาวเรือจึงหาวิธีที่ง่ายกว่าด้วยการยึดกลุ่มดาวที่ชี้ไปหาดาวเหนือแทน เช่น กลุ่มดาวนายพราน ดาวจระเข้ ดาวกางเขนใต้
ชาวอียิปต์โบราณมักเฝ้าสังเกตการปรากฏขึ้นของ "ดาวซิริอุส" หรืออีกชื่อหนึ่ง "ดาวโจร" ตามตำนานมีความสัมพันธ์กับเทพเจ้าโอไซริสผู้พิทักษ์แม่น้ำไนล์
เมื่อใดที่ดาวดวงนี้ส่องแสงบนท้องฟ้า นั่นเป็นสัญญาณบอกว่าแม่น้ำไนล์กำลังเอ่อล้น และจะเกิดน้ำท่วม แม้ว่าน้ำจะนำหายนะมาสู่พวกเขา แต่ในขณะเดียวกันก็พัดพาพื้นดินใหม่ และชีวิตใหม่มาด้วย ชาวอียิปต์จึงถือวันแรกที่ดาวซิริอุสส่องแสงเป็น “วันขึ้นปีใหม่” และพวกเขาเชื่อว่าทั้งหมดนี้เกิดมาจากพลังของดวงดาว
ในเมื่อแม่น้ำไนล์ยังเปลี่ยนได้เพราะดวงดาว คนเราที่เป็นสิ่งมีชีวิตตัวเล็ก ๆ บนโลก ก็อาจขึ้นอยู่กับดวงดาวได้เช่นกัน การเทียบเคียงของคนโบราณในสมัยนั้น อาจเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้องนัก แต่ก็ถือเป็นสิ่งเดียวที่สามารถอธิบายเหตุการณ์และความไม่แน่นอนต่าง ๆ ได้รองจากวิทยาศาสตร์
แนวคิดข้างต้นทำให้เกิด “โหราศาสตร์ (Astrology)” ศาสตร์ที่ว่าด้วยการทำนาย เหตุการณ์ หรือชะตาชีวิตคน ที่อาจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในอนาคตจากการสังเกตดวงดาว ซึ่งมีหลักฐานว่านักดาราศาสตร์ในยุคบาบิโลน พยายามศึกษาเส้นทางและการเคลื่อนที่ของดวงดาว ส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการทำนายเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมือง และกษัตริย์
ในศิลา "Enuma Anu Enlil" จารึกสำคัญทางโหราศาสตร์ที่สมบูรณ์แบบเท่าที่เคยค้นพบ ในช่วงยุคเมโสโปเตเมียโบราณ พบว่ามีการบันทึกคำพยากรณ์หรือลางบอกเหตุต่าง ๆ ด้วยอักษรคูนิฟอร์ม ซึ่งคำทำนายทั้งหมดหากถอดความออกมาแล้วจะพบว่า เป็นการอ้างอิงเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ หรือปรากฏการณ์บนท้องฟ้าทั้งสิ้น เช่น "หากดวงจันทร์ปรากฏครั้งแรก และถูกล้อมรอบด้วยดาวกางเขน จะเกิดสงครามในแผ่นดิน"
เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่ดวงดาวที่เราเห็นส่องแสงอยู่ไกล ๆ นั้น เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและตัวเราอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเพียงประโยชน์ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เราได้รับจากดวงดาว เพื่อน ๆ สามารถรับชมเกร็ดความรู้เพิ่มเติม ได้ที่ รายการ โลกกลม ๆ สังคมของหนู ตอน ดวงดาวเกี่ยวกับเราอย่างไร ทางเว็บไซต์ ALTV
ที่มา: Time LiveScience National Geographic