เราพามาที่ชุมชนท่าดินแดงในเขตคลองสานค่ะ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนาน รวมไว้ด้วยผู้คนจากหลายเชื้อชาติ ทั้งคนไทย คนไทยเชื้อสายจีน คนไทยมุสลิม ฯ
ใครที่ไม่เคยมาเดินเล่นแถวนี้มาก่อนเลย แนะนำนะคะ โดยเฉพาะคนที่ชอบกินนี่ นอนจากสองข้างทางจะเต็มไปด้วยร้านอาหารเจ้าเก่าเจ้าดังที่ส่งไม้ต่อทางธุรกิจกันมาหลายรุ่นหลายสมัยแล้ว ยังมีร้านเล็กร้านน้อยและแผงขายอาหารตามตรอกซอกซอยที่เดินเพลินจนลืมเวลาเลยค่ะ
แต่เดี๋ยวก่อน ที่จะเขียนนี่ ไม่ได้จะมารีวิวเรื่องอาหารสตรีทฟู้ดในชุมชนนี้แต่อย่างใด หากเราจะพูดถึงวีแกนคาเฟ่ที่ชื่อ Kappra (กัปปร้า) ซึ่งในภาษาฮินดีแปลว่า ผ้า รวมไปถึงงานกราฟิตี้ที่กั้นกลางระหว่างโลกของวีแกนกับอดีตโรงงานฟอกหนังสัตว์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สัตว์ และธรรมชาติ
ต้องออกตัวก่อนว่าครั้งแรกที่เดินลัดเลาะเข้ามาจนถึงด้านหน้าของกัปปร้าวีแกนคาเฟ่ เรายืนสงสัยอยู่นานว่า วีแกนคาเฟ่อะไรจะมาตั้งอยู่ตรงนี้ จะมีคนมากินเหรอ ไปเปิดแถวสุขุมวิทน่าจะเวิร์กกว่าไหม
ซึ่งนั่นเป็นทัศนคติของการมองโลกที่แคบมากค่ะ
เพราะกัปปร้าวีแกนคาเฟ่ที่เปิดตัวมาได้ประมาณเกือบหนึ่งปีแล้ว มีลูกค้าเดินเข้าออก ทั้งกลุ่มของนักออกแบบรุ่นใหม่ นักธุรกิจวงการผ้า รวมไปถึงป้า ๆ น้า ๆ ในชุมชนท่าดินแดง และยังรวมไปถึงกลุ่มคนจากย่านสำเพ็งที่นั่งเรือข้ามฟากมากินเป็นประจำ ด้วยเพราะอยากเข้าใจในความหมายของการมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการกิน
แล้ววีแกนคืออะไรล่ะ?
กุลินนา สิริกุลธาดา เจ้าของร้าน โตมาในครอบครัวธุรกิจโรงงานผ้า คุณพ่อคุณแม่หล่อหลอมเธอมาตั้งแต่เล็กให้เป็นคนรักธรรมชาติ รักสัตว์ ไม่เบียดเบียดสิ่งแวดล้อม กุลินนากำลังศึกษาทางด้าน Nutrition and Food Studies ที่ New York University เธออธิบายเรื่องราวของวีแกนให้เราฟังอย่างกระชับ แต่เห็นเป็นภาพรวมได้ค่อนข้างชัดเจน
วีแกนไม่ใช่แค่การไม่กินเนื้อสัตว์ แต่มันยังคือการไม่พรากสัตว์ ไม่แย่งสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตสัตว์ด้วย
“วีแกนคือเราจะไม่ใช้และไม่กินผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่มาจากสัตว์ค่ะ ครอบคลุมไปถึงนม ไข่ น้ำผึ้ง เหตุผลที่ไม่ควรกินมีหลายข้อเลย เช่นในแง่ของระบบกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์หรือผลิตสินค้าที่มาจากสัตว์ทั้งหมด เวลาที่เขามีฟาร์มสัตว์เพื่อเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้ประโยชน์ สิ่งที่ตามมาคือการฉีดฮอร์โมน ซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในตัวสัตว์ หรือแม้แต่การใช้พื้นที่ฟาร์มไปกับการเลี้ยงสัตว์จำนวนมาก แต่กลับได้ผลผลิตออกมาแค่นิดเดียว ให้ประโยชน์กับคนแค่จำนวนเดียว ในทางกลับกัน ถ้าเราใช้พื้นที่ฟาร์มทั้งหมดนั้นมาปลูกข้าว ปลูกพืชผักแทน เราจะมีอาหารหมุนเวียนสำหรับคนอีกมากมายแบบไม่รู้จบ โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์เลยด้วย และคนก็ไม่ต้องได้รับเอฟเฟกต์จากฮอร์โมนที่ฉีดเข้าไปในสัตว์ผ่านการกิน หรือถ้ามองด้าน mural การที่มนุษย์แม่มีน้ำนมไหลออกมาภายหลังคลอดลูก ก็เพื่อให้ลูกได้กินนมจากเต้า นี่คือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาให้เป็นแบบนั้น เช่นกัน วัวเองก็มีน้ำนมออกมาเพื่อเอาไว้ให้ลูกเขากิน แต่กลับกลายเป็นว่ามนุษย์ไปแย่งนมวัวมากิน และในช่วงของการรีดนมวัว ก็ต้องมีการพรากลูกพรากแม่เขาด้วย"
"ตัวเราเองก่อนหน้านี้ เราเป็นแค่มังสวิรัติค่ะ ไม่ถึงกับวีแกน แต่พอศึกษาเรื่องวีแกนมาก ๆ เข้าก็เลยอิน และรู้สึกว่าวิถีวีแกนนี่ล่ะคือสิ่งที่ตอบโจทย์กับโลกในตอนนี้ที่สุด ตอนเป็นมังสวิรัติเราก็ยังกินชีส เราเป็นคนชอบชีสมาก จนเมื่อเข้าใจในกระบวนการผลิตพวกนมวัวแล้ว จะชอบกินชีสขนาดไหน เราก็ทำใจกินต่อไม่ได้
หรืออย่างการกินไข่ มันคือการไปหยุดวัฏจักรชีวิตของไก่เลยนะคะ เขาควรจะแตกออกจากฟองเพื่อเติบโต จากลูกเจี๊ยบไปเป็นแม่ไก่ แต่คนก็ไปเก็บไข่ที่ยังไม่ทันได้แตกตัว เอามาขาย เอามาทอด เอามาต้มกินเสียก่อน ที่เขาจะมีโอกาสได้มีชีวิต”
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ในวันที่ตัดสินใจเปิดกัปปร้าวีแกนคาเฟ่ พื้นที่นี้แต่เดิมเป็นส่วนของออฟฟิศขายผ้า ซึ่งคุณพ่อของกุลินนาเป็นคนไทยเชื้อสายอินเดีย ส่วนคุณแม่เป็นชาวอินเดียจากเมืองเดลี
ด้วยความที่ออฟฟิศนี้มักจะมีลูกค้าหมุนเวียนเข้ามาติดต่อเรื่องธุรกิจอยู่เสมอ ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่ทางออฟฟิศให้ความสำคัญกับการตลาดทางออนไลน์มากขึ้น จึงมีกลุ่มของลูกค้าซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพ แวะเวียนเข้ามาประจำ วันหนึ่ง ทางออฟฟิศจึงคิดว่าควรจะต้องมีพื้นที่ของร้านกาฟด้านล่างไว้สำหรับรองรับลูกค้าที่มานั่งรอหรือมานั่งวางแผนงาน
ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่า ไม่ได้มีแต่เฉพาะกลุ่มลูกค้าที่กล่าวมาแล้วเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มของชาวบ้านในชุมชนด้วย
คิดไปแล้วก็น่าแปลกดี ชุมชนในละแวกนี้เป็นกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ แนวคิดของวีแกนไม่น่าจะเข้าถึงพวกเขาได้ง่าย ๆ
“เราเกิดและโตมาในชุมชนนี้ คิดมาตลอดว่าชุมชนนี้ไม่เคยมีร้านอาหารที่ช่วยดูแลสมาชิกในชุมชนเรื่องสุขภาพเลย ทีแรกตอนเริ่มทำร้านก็คิดเหมือนกันค่ะว่า มันจะเข้าถึงคนยากไหมนะ แต่กลายเป็นว่า ป้า ๆ อา ๆ เขาเปิดโอกาสให้เราได้ให้ความรู้ หลายคนเดินเข้ามาคุยกับเราถึงเรื่องกาโนร่าซึ่งมันเป็นอาหารเช้าที่เฮลท์ตี้มากๆ ทำจากข้าวโอ๊ต ไม่มีไขมันเหมือนคอร์นเฟลกส์ทั่วไปที่เราซื้อกินกันตามร้านสะดวกซื้อ เขาอยากทำกาโนร่าเป็นบ้าง แต่เขาทำไม่เป็น ไม่รู้จะเริ่มยังไง แล้วไม่ใช่เรื่องเดียวนะคะ ยังมีอีกหลายเมนูที่เขาเดินมาปรึกษาเราตลอด เราดีใจมากเลยที่คนในชุมชนเปิดใจให้วีแกน”
หนึ่งมุมที่ดูจะเป็นภาพจดจำเมื่อพูดถึงกัปปร้าคาเฟ่ไปเสียแล้ว คือกราฟิตี้บนฝาผนังทางด้านหน้าร้าน โดยกำแพงนี้กั้นกลางระหว่างตัวคาเฟ่กับอดีตโรงงานฟอกหนังในเรือนไม้ เห็นแล้วก็นึกถึงงานสตรีทอาร์ตในนิวยอร์กที่มักเล่นกับลักษณะภูมิทัศน์ สถาปัตยกรรม โดยซ่อนแนวคิดของการพัฒนาคุณภาพชุมชนเอาไว้
“เราโทรไปหาอาจารย์ที่เพาะช่าง เพราะเป็นสถาบันศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่ง และอยู่ใกล้คาเฟ่ของเราด้วย โจทย์คร่าว ๆ ที่เราให้กับเขา คือแนวคิดของกรัปป้าที่พูดถึงความสมดุลย์ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ สัตว์ และธรรมชาติ ดูแลสุขภาพตัวเองและใส่ใจโลก เราโอเพ่นให้เขาได้ออกไอเดียว่าถ้าเขาจะต้องสื่อสารในแนวคิดของเรา เขาจะมีวิธีการนำเสนอยังไงให้ชมชนได้เข้าใจ ผ่านงานศิลปะบนผนัง”
นอกจากภาพวาดที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์บนผนังแล้ว ด้วยอาคารของกัปปร้าคาเฟ่มีออฟฟิศของโรงงานผ้าอยู่ชั้นบนด้วย งานศิลปะที่เกิดขึ้นบนผนังจึงมีการนำลายผ้าเข้ามาร้อยเรียงเรื่องราวกับแนวคิดในการกินอาหารวีแกน
ช่องทางติดตาม คลิก>> Kappra cafe<<