เมื่อพูดถึงฤดูร้อน (Summer) เราจะนึกถึงภาพของการออกไปเที่ยวท้าลมแดดแถวชายทะเล ลุยกิจกรรม Outdoor มัน ๆ แบบไม่ต้องห่วงเรื่องฟ้าฝน แต่สำหรับบางคนแล้ว หน้าร้อนไม่ได้น่ารักเหมือนอย่างที่คิดไว้ เพราะนอกจากจะทำให้อารมณ์เดือดปุด ๆ ยังแถมความเศร้าหมอง หดหู่ใจมาให้อีกด้วย!
ยิ่งอากาศร้อน ก็ยิ่งทำให้คนอารมณ์ร้ายเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนน่าจะเข้าใจกันดี ในแง่จิตวิทยาอธิบายสาเหตุไว้ว่า เพราะความร้อนทำให้เรารู้สึกไม่สบายเนื้อสบายตัว ไม่ว่าจะเป็นความเหนียวเหนอะหนะจากเหงื่อ ความแสบร้อนผิวหนัง หรือบางคนแค่เจอไอร้อนก็ทำเอาไมเกรนกำเริบ ทั้งหมดทั้งมวลส่งผลให้ผู้คนมีแนวโน้มก้าวร้าว ฉุนเฉียว ไปจนถึงมองโลกในแง่ลบมากขึ้น
ผลการวิเคราะห์สถิติอาชญากรรมจำนวนไม่น้อย พบว่าการก่ออาชญากรรมมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน และวารสารการแพทย์ Jama Psychiatry รายงานว่า ในเมือง 2,775 ทั่วสหรัฐอเมริกา มีอัตราการเข้ารับบริการในแผนกฉุกเฉินด้านจิตเวช ทั้งโรคซึมเศร้า โรคเครียด โรคเครียดหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงหน้าร้อน
Summer depression หรือ Summer blues คือคำที่ใช้เรียกแทน 'ภาวะซึมเศร้าในช่วงฤดูร้อน' ในทางจิตวิทยาจัดอยู่ในกลุ่มอาการของ โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือ Seasonal affective disorder (SAD) ความผิดปกติทางอารมณ์ที่มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศ และการที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับฤดูกาลได้ จึงทำให้มีอาการซึมเศร้า หดหู่ วิตกกังวลไปจนถึงคิดสั้นอยากฆ่าตัวตาย ส่วนใหญ่พบมากในฤดูหนาว แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในฤดูร้อนเช่นกัน
ในจำนวนผู้ป่วย SAD ในสหรัฐอเมริกา มีจำนวน 10% ต้องประสบกับภาวะซึมเศร้าในฤดูร้อน อาการที่พบมากคือ มีปัญหานอนไม่หลับ หดหู่ กระวนกระวายใจ สูญเสียความอยากอาหารซึ่งนำไปสู่น้ำหนักที่ลดลง
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า SAD มักพบในฤดูหนาว จึงทำให้บางครั้งผู้ที่เป็น SAD ในหน้าร้อนมักถูกมองข้าม และถูกคาดหวังให้ต้องสนุกสนานในช่วงซัมเมอร์ แต่สำหรับพวกเขาแสงแดดกลับดูดกลืนพลังงานจนไม่มีอารมณ์ออกไปไหน เมื่อรู้สึกไม่ฟิตอินกับกิจกรรมของคนรอบข้าง จึงมีจำนวนไม่น้อยเลยที่เลือกจะแยกตัวออกไป
นักจิตวิทยาอธิบายสาเหตุของ Summer depression ไว้ว่า เพราะแสงแดดแรง ๆ ในช่วงหน้าร้อน อาจทำให้สมองผลิต 'ฮอร์โมนเมลาโทนิน' ได้น้อยลง ซึ่งเมลาโทนินจะผลิตได้ดีก็ต่อเมื่ออยู่ในที่มืด หรือที่แสงน้อย สารเมลาโทนินช่วยให้คนเรารู้สึกง่วงในเวลากลางคืนพาร่างกายเข้าสู่วงจรการนอนหลับได้ง่าย และยังมีบทบาทสำคัญในการควบคุมอารมณ์ เพราะฉะนั้นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสารตัวนี้ อาจส่งผลต่อระดับอารมณ์ ความรู้สึกของคนเราได้
อย่างไรก็ตามอารมณ์เศร้า หดหู่ เป็นเรื่องธรรมชาติของร่างกายที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แต่เมื่อใดก็ตามที่เริ่มสังเกตได้ว่าช่วงเวลาหน้าร้อนฉันแปรปรวนมากกว่าปกติ จนถึงขั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาลก็เป็นได้
อ้างอิงจาก Rian Rowles จิตแพทย์ที่ Advocate Christ Medical Center ได้พูดถึงลักษณะอาการของ SAD ไว้ดังนี้
ถึงแม้ว่าภาวะ SAD มีโอกาสหายได้เมื่อสิ้นสุดฤดูกาล แต่ก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไปจนถึงหน้าที่การงาน อย่างไรก็ตามเรานำวิธีการรับมือกับความเศร้าในฤดูร้อนมาฝากเพื่อน ๆ เพื่อเป็นแนวทางในการดูแลตัวเองต่อไป
การนอนหลับให้เพียงพอช่วยทำให้ความซึมเศร้าดีขึ้นได้ กลับกันเมื่อร่างกายไม่ได้พักผ่อนเต็มที่ ก็ยิ่งทำให้อาการซึมเศร้าแย่ลง อาจเริ่มจากการหากิจกรรมผ่อนคลายสมองก่อนเข้านอน เช่น อาบน้ำอุ่น อ่านหนังสือ ทำสมาธิ หลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจากหน้าจอสมาร์ตโฟนก่อนเข้านอน จะสามารถช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ง่ายขึ้น
การออกกำลังกายเป็นอีกวิธีที่ช่วยรักษาอาการซึมเศร้าให้ดีขึ้นได้ แม้ว่าจะร้อนเกินไปจนไม่อยากทำอะไร ก็จำเป็นต้องหาหาวิธีอื่น ๆ เพื่อคงความกระฉับกระเฉงเอาไว้ อาจเริ่มจากการออกกำลังกายในร่ม หรือเลือกช่วงเวลาออกกำลังที่แสงแดดไม่แรงมาก เช่นช่วง เช้า-เย็นของวัน
หลีกเลี่ยงแสงแดดตัวการที่ทำให้อารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ ออกไปข้างนอกอย่าลืมที่จะพกร่ม ใส่แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าเนื้อเบาระบายอากาศได้ดี รวมไปถึงเลือกทานอาหาร เครื่องดื่มที่ให้ความสดชื่น และไม่ลืมที่จะดื่มน้ำให้ได้วัน 8 แก้ว
หน้าร้อนมักทำให้เรารู้สึกไม่อยากอาหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้าอาจรู้สึกไม่อยากอาหารจนน้ำหนักตัวลดลง ซึ่งการไม้รู้สึกหิวไม่ได้เแปลว่าร่างกายไม่ต้องการสารอาหาร เพราะฉะนั้นควรทานอาหารให้ตรงเวลา และทานให้ครบตามหลักโภชนาการ โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ลิสต์กลุ่มอาหารที่ดีต่ออาการซึมเศร้าไว้ ประกอบด้วย ไข่ กล้วย เมล็ดฟักทอง น้ำดอกอัญชัน ดาร์กช็อกโกแลต ชาเขียว ชาคาโมมายล์
หากรู้สึกได้ว่าอาการต่าง ๆ ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันจนเกินรับไหว ก็อย่าได้รีรอที่จะไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักจิตวิทยา เพื่อรับการแนะนำ และการรักษาที่ถูกจุด ทั้งนี้จะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับมันได้ดีขึ้น
เมื่อได้รู้วิธีดูแลจิตใจในในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงแล้ว เพื่อน ๆ ยังสามารถรับชมสิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติม ที่รับรองว่าได้ทั้งความเพลิดเพลิน คลายเครียด แถมยังได้ความรู้ จาก รายการ สังคมสนุกคิด << คลิก ที่จะมาไขคำตอบว่า "ทำไมประเทศไทยถึงร้อน" ได้ที่เว็บไซต์ ALTV ช่อง 4 ทีวีเรียนสนุก
ที่มา:Healthline Fox News Health Enews The gardian