ทุกวันที่ 2 ตุลาคม ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น 'วันงดใช้ความรุนแรงสากล (International Day of Non-Violence)' ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ ‘มหาตมะ คานธี’ นักรณรงค์เคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญของอินเดีย ผู้กอบกู้เอกราชอินเดียจากการเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ในปี ค.ศ.1947 โดยยึดถือหลักการสันติวิธี หรือที่รู้จักกันไปทั่วโลกว่า 'แนวคิดแบบอหิงสา' และ 'สัตยาเคราะห์'
โมหันทาส กรรมจันทร์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) หรือ ‘มหาตมะ คานธี’ เกิดเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 1869 ที่เมืองปอร์บัณฑร ประเทศอินเดีย ตรงกับช่วงที่อินเดียตกเป็นประเทศใต้อาณานิคมของอังกฤษ คานธีเกิดมาในครอบครัวที่มีพ่อรับราชการ และแม่ที่เคร่งในศาสนา จึงได้ซึมซับหลักธรรมคำสอนทางศาสนาตั้งแต่ยังเด็ก ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อความคิดและอุดมการณ์ของคานธีในตลอดช่วงชีวิตของเขา
เมื่ออายุได้ 18 ปี คานธีจากบ้านเกิดไปศึกษาต่อด้านกฎหมาย ที่ประเทศอังกฤษ และย้ายไปทำงานที่แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นอีกประเทศอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิอังกฤษเช่นกัน ที่นั่นคานธีถูกห้ามโดยสารในรถไฟร่วมกับคนขาว เพราะสีผิวที่แตกต่างของเขาเอง เหตุหารณ์ดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับแนวคิดการแบ่งแยกเชื้อชาติในแอฟริกาใต้ และได้ก่อตั้งพรรคอินเดียน คองเกรส ในจังหวัดนาทาล ที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชให้อินเดีย
ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ที่ต้องการคืนความยุติธรรมให้คนอินเดีย คานธีเดินทางกลับบประเทศบ้านเกิด และเริ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชให้อินเดีย ตั้งแต่ปี ค.ศ.1897 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นหลังจากเหตุการณ์ 'สังหารหมู่จัลเลียนวาลาบังห์' ที่ฝั่งอังกฤษได้ปราบปรามการชุมนุมประท้วงของประชาชนชาวอินเดีย ที่เมืองอมฤตสาร์ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 379 ราย บาดเจ็บอีกหลายพันคน
คานธี ตระหนักได้ว่าการต่อสู้โดยใช้กำลังไม่ใช่หนทางที่ให้ผลดีในระยะยาว มิหนำซ้ำยังเกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย เขาจึงเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงอย่างสันติปราศจากความรุนแรงที่ภายหลังโด่งดังไปทั่วโลก นั่นคือการ “ดื้อแพ่ง” ไม่ยอมให้ความร่วมมือกับทางการอังกฤษ รวมไปถึงไม่อุดหนุนสินค้าของอังกฤษเลย
การดื้อแพ่งของคานธี ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดแบบ สัตยาเคราะห์ (Satyagraha) และ อหิมสา, อหิงสา (Ahimsa) โดย คำว่า สัตยาเคราะห์ สามารถแปลได้ว่า “การยึดถือความจริงเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรม” ส่วนคำว่า อหิงสา มาจากคำว่า “หิงสกรรม” ในทางศาสนาหมายถึง "การไม่เบียดเบียนชีวิตผู้อื่น" เมื่อนำมารวมกันมันจึงหมายถึง การต่อสู้ที่ปราศจากความรุนแรง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น และอาศัยความรัก ความเมตตาเข้าสู้
ด้วยความศรัทธาในความรักและความเมตตาของคานธี ทำให้ในปี ค.ศ. 1947 อินเดียก็สามารถกอบกู้เอกราชจากอังกฤษได้สำเร็จ คานธีกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนทั่วโลกหนึ่งในนั้นคือ "มาร์ติน ลูเธอร์คิง" นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองชาวแอฟริกัน-อเมริกัน คนสำคัญในประวัติศาสตร์
ในอดีต “เกลือ” เป็นวัตถุดิบที่ถูกควบคุมโดยอังกฤษที่เป็นเจ้าอาณานิคม มีการออกกฎหมายควบคุมการทำนาเกลือ ไม่ให้คนอินเดียสามารถผลิตหรือจำหน่ายเกลือด้วยตนเอง และไม่เพียงเท่านั้นยังรียกเก็บ 'ภาษีเกลือ' หรือ 'ภาษีความเค็ม' จากคนอินเดียในราคาแพงอีกด้วย
จนเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 1930 คานธีได้ชักชวนให้ประชาชนชาวอินเดีย “ทำสัตยาเคราะห์เกลือ (Salt Satyagraha)” หรือการ “ดื้อแพ่ง” ด้วยการไม่จ่ายภาษีเกลือ พร้อมกับเดินขบวนประท้วงอย่างสันติไปที่เมืองแดนดิ เพื่อผลิตเกลือเอง เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจและไม่เห็นด้วยกับกฏหมายเกลือ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน ซึ่งสุดท้ายแล้วคานธีก็ยอมให้ทางการจับกุมอย่างโดยดี แต่เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำทั่วโลกต้องหันมาให้การยอมรับการคานธี ในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิของคนอินเดีย
ด้วยอิทธิพลจากศาสนาคริสต์ ที่เข้ามาในช่วงที่อังกฤษยึดครองอินเดีย พิธีสมรมตามหลักศาสนาคริสต์เท่านั้นที่จะได้รับการรับรองจากกฏหมาย ตรงกันข้ามกับการสมรสตามหลักศาสนาอื่น ๆ เช่น ศาสนาฮินดูและอิสลาม ถือที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมาย
กฏหมายดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับคนอินเดีย เพราะถือเป็นการหมิ่นเกียรติและละเมิดสิทธิอย่างมากโดยเฉพาะกลุ่มสตรี ที่อาจถูกครหาได้ว่าไม่ใช่ภรรยาที่สมรสถูกต้องตามกฎหมาย จนในที่สุดได้มีการลุกฮือประท้วงต่อต้านกฏหมายที่ไม่เป็นธรรมนี้ ภายใต้การนำของคานธีอีกเช่นเคย ซึ่งแน่นอนว่าตั้งอยู่บนแนวคิดสัตยาเคราะห์ คือการเดินขบวนอย่างสันติจากเมืองนาตาล ไปยังเมืองทรานสวาล รวมกันเป็นเวลา 8 วัน พร้อมกับการไม่พกบัตรประจำตัว ซึ่งถือเป็นละเมิดกฎหมาย ทำให้ในตอนสุดท้ายคานธีได้ยอมรับการจับกุมจากทางการอีก่เช่นเคย
จากการต่อสู้มาอย่างยาวนานของคนอินเดีย ในที่สุดอินเดียก็ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในปี 1947 ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง เกิดการแบ่งแยกประเทศออกเป็น 2 ส่วน คือ อินเดีย และปากีสถาน ทำให้ความฝันของคานธีที่ต้องการให้คนต่างชื้อชาติ ต่างศาสนา สามัคคี ปรองดองกันต้องดับสลายไป
การแบ่งแยกประเทศในครั้งนี้ นำมาซึ่งการปะทะกันระหว่างชาวฮินดู และชาวมุสลิม ทำให้คานธีที่ในตอนนั้นที่ถูกมองว่าเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ ต้องเดินทางไปยังกรุงเดลีเพื่อหาทางออกให้ทั้งสองฝ่ายด้วยสันติวิธี เขาให้ความช่วยเหลือชาวมุสลิม ด้วยการอดอาหารประท้วง (Hunger Strike) ซึ่งก็ประสบความสำเร็จได้ไม่เท่าไหร่นัก แต่การกระทำของคานธีกลับยิ่งทำให้ผู้นับถือศาสนาฮินดูสายสุดโต่ง รู้สึกโกรธแค้นจากการที่คานธีทำตัวเป็นมิตรกับชาวมุสลิม
จนในวันที่ 30 มกราคม 1948 มหาตมะ คานธี ถูกลอบยิงเสียชีวิต ที่กรุงนิวเดลี ในวัย 78 ปี โดยกลุ่มผู้นับถือศาสนาฮินดูสายสุดโต่ง โศกนาฎกรรมในครั้งนี้สร้างความอาสัยให้คนทั่วโลก ผู้คนต่างยกย่องสรรเสริญเขาในฐานะบิดาของประเทศ ผู้ที่อุทิศตนต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความถูกต้องตวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต