นักสูดหนังสือ: ผู้รักการอ่าน คนที่นึกถึงหนังสืออยู่ทุกลมหายใจ คนเหล่านี้เมื่อเจอกับคำถามประเภท “ในความคิดของคุณ ร้านขายหนังสือคล้ายกับห้องสมุดหรือร้านขายรองเท้า?” มักจะตอบอย่างมั่นใจว่า “เหมือนห้องสมุดอยู่แล้ว”
บลู ร็อคคีนี รู้จักตัวเองดีว่าเธอเป็นนักสูดหนังสือมืออาชีพ มีความใฝ่ฝันว่าอยากจะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกแห่งการอ่าน เธอครองตำแหน่งบรรณาธิการในสำนักพิมพ์เล็ก ๆ แห่งหนึ่งอยู่ได้เพียงไม่นานก็ต้องผันตัวมาเป็นหนึ่งในพนักงานของร้านหนังสือแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ เพื่อที่จะมาเจอโลกแห่งความจริงว่า ธุรกิจสิ่งพิมพ์นั้นเต็มไปด้วยคนประหลาด และหน้าที่พนักงานขายไม่เท่ากับการได้แหวกว่ายอยู่ในดินแดนที่เต็มไปด้วยหนังสือให้เธอได้ชิตแชตแนะนำพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวสาระบันเทิงกับลูกค้านักอ่านหลายหลาก
เมื่อเป็นงานขายแล้ว ไม่ว่าจะขายรองเท้า ขายไส้กรอก ขายชีส หรือขายหนังสือ มันก็ไม่มีอะไรต่างกันเพราะมันล้วนเป็นธุรกิจที่ให้ความสำคัญแต่กับกำไรและยอดขาย ยอดขาย ยอดขาย ไม่ได้เกี่ยวกับโลกแสนหรรษาบนหน้ากระดาษเอาเสียเลย
แต่คำว่ารายได้ก็ทำให้บลูอดทนสู้งานมาได้เป็นปี ซึ่งก็ดูจะก้าวหน้าในตำแหน่งอยู่เหมือนกัน เพราะนอกจากบัญชียอดขายแล้วเจ้านายได้มอบหมายหน้าที่ให้เธอเพิ่มเติม นั่นคือการเป็นผู้จัดการการสอบสัมภาษณ์เพื่อรับคนใหม่ ๆ เข้าทำงาน คราวนี้จะได้เลือกหนอนหนังสือมาอยู่เป็นเพื่อนร่วมงานบ้างแล้วสินะ!
ผิดจ้า! เพราะเกณฑ์สำคัญที่เจ้านายย้ำไว้เป็นข้อแรกพร้อมกับการมอบหมายงานนั่นคือ “จำไว้เลยนะว่า คนไหนหายใจเข้าหายใจออกเป็นหนังสือเนี่ย เขี่ยออกให้หมด ที่นี่เราไม่ต้องการ” ระบุกันชัดเจนขนาดนี้จะมีใจไปคัดคนได้ยังไง แต่ถึงอย่างนั้น ก็ต้องบอกว่าบลูสามารถทำตามที่เจ้านายสั่งไว้ได้ดี เพราะแม้จะไม่ได้รับพนักงานใหม่เข้ามา แต่เธอก็ได้ทำการเขี่ย “นักสูดหนังสือ” ตัวเป้งออกจากองค์กรให้เป็นที่เรียบร้อย
นักสูดหนังสือคนนั้นก็คือ บลู ร็อคคีนีนั่นเอง
หลังจากนั้นบลูก็เดินทางมุ่งสู่โลกแห่งหนังสือได้อย่างกับเรื่องในนิยาย ด้วยการเปิด “La Piccola Farmacia Letteraria” เริ่มต้นชีวิตการเป็นเจ้านายตัวเอง เพราะไม่อยากกลายเป็นมนุษย์ที่ “ใช้ชีวิตด้วยการรอคอยวันศุกร์และเกลียดชังวันจันทร์” เธอสร้างร้านหนังสือน้อย ๆ ด้วยความหวังว่ามันจะออกมาใกล้เคียงกับในอุดมคติของเธอมากที่สุด
แน่นอนว่าเรื่องไม่ได้จบลงง่าย ๆ ตรงการเฉลิมฉลองตัดริบบิ้นให้กับร้านหนังสือในฝัน กิจการของเธอยังสร้างงานและสร้างเรื่องอีกมากมาย ผู้คนทั้งแปลกหน้าและคุ้นเคยวนเวียนเข้ามาพร้อมเหตุการณ์ให้เราได้ติดตามแบบลุ้นคิกคักพอเพลิน
จุดที่สะดุดตาคือในแต่ละบทนั้นจะ “ว่าด้วยเรื่อง” ต่าง ๆ โดยมาพร้อมกับโควตจากหนังสือเล่มเด่นที่ถูกจัดไว้ให้เป็นคู่กัน ซึ่งเลือกมาได้ถูกใจเราแทบทุกเล่ม ทำเอาต้องอ่านไปทดไปกันเลยทีเดียว...
ตามด้วย “วรรณกรรมโอสถ” ในส่วนท้ายเล่มที่กำกับสรรพคุณของหนังสือจากแต่ละบทไว้ให้เรียบร้อย
เพราะ Elena Molini เชื่อว่าร้านหนังสือควรเป็นมากกว่าการค้า ร้านหนังสือเป็นพื้นที่พบปะกันของผู้คน ร้านหนังสือไม่ใช่การขายแต่เป็นทั้งการรับและการให้ มากไปกว่านั้นหนังสือไม่ได้มีไว้แค่ให้อ่านหรือ “สูด “ หนังสือยังมีสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกันทางใจได้อีกด้วย
หลังจากอ่านจบเราก็รู้เลยว่า เดี๋ยวได้ออกไปตามหาซื้อ “ยาใจ” มาเสริมกองดองที่บ้านอีกหลายเล่มแหง ๆ
สามารถอ่านคำโปรยและรีวิวของหนังสือ คลิก >> “La Piccola Farmacia Letteraria – วรรณกรรมโอสถน้อย” (ชื่อในฉบับภาษาอังกฤษคือ “The Little Literary Pharmacy”) ของ Elena Molini แปลจากภาษาอิตาลีเป็นไทยโดย อัมรา ผางน้ำคำ
เรื่อง : พัดชา เอนกอายุวัฒน์ // ภาพประกอบ : ณภัค ภูมิชีวิน
ภาพประกอบ : www.hotelprincipe.com // www.firenzemadeintuscany.com // thesenseofwonder.it