ALTV All Around
ALTV News
บทความอื่นจาก Thai PBS
ALTV All Around
ALTV News
บทความ Thai PBS
5 พ.ย. 'วันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก' กับ 5 สถิติน่ารู้เกี่ยวกับสึนามิ
แชร์
ชอบ
5 พ.ย. 'วันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก' กับ 5 สถิติน่ารู้เกี่ยวกับสึนามิ
05 พ.ย. 65 • 09.00 น. | 3,623 Views
ขนาดอักษร : กลาง
ALTV CI

สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น 'วันตระหนักรู้ภัยสึนามิโลก (World Tsunami Awareness Day)' โดยอิงจากเรื่องสั้นญี่ปุ่น อินามูระ โนะ ฮิ (Inamura no Hi) เรื่องราวของ 'โคเรียว ฮามากูจิ' ผู้ที่จุดไฟเผามัดข้าวเปลือกเพื่อเป็นสัญญาณเตือนถึงคลื่นสึนามิที่กำลังเข้าถล่มหมู่บ้านจนทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านรอดชีวิตมาได้

 

สึนามิ (Tsunami) คือ คลื่นน้ำขนาดใหญ่ที่มีความสูงตั้งแต่ 10-100 ฟุตขึ้นไป เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น แผ่นเปลือกโลกใต้ทะเลเคลื่อนที่ฉับพลัน การเกิดแผ่นดินไหวใต้ท้องทะเล การปะทุของภูเขาไฟใต้ทะเล ดินถล่มลงสู่พื้นน้ำ อุกกาบาตตก ธารน้ำแข็งไถล รวมไปถึงการจุดระเบิดนิวเคลียร์ใต้ท้องทะเล

 

ภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายอันดับ 1

เว็บไซต์ Statista รวบรวมสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแต่ละประเภท ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2541-2560 โดยระบุไว้ว่า ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ถือเป็นภัยธรรมชาติที่คร่าชีวิตผู้คนมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือ ภัยจากแผ่นดินไหว และภัยที่เกิดจากลมพายุ โดยผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นสึนามิทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 250,000 คน และผู้เสียชีวิตที่ยืนยันแล้วจำนวน 227,000 คน

 

สึนามิครั้งแรกของโลก

เหตุการณ์สึนามิครั้งแรกของโลกเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ เกิดขึ้นในช่วงยุคสำริด (ฺThe Late Bronz age) หรือเมื่อ 3,600 ปีก่อน บริเวณเกาะซานโตรินี (Santorini) ประเทศกรีซ โดยมีสาเหตุเกิดจากภูเขาไฟบนเกาะระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้พื้นที่บางส่วนของเกาะถูกทำลายหายไป และเกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่เข้าปะทะชายฝั่งในเวลาต่อมา จากเหตุการณ์ในครั้งนั้น คร่าชีวิตของผู้คนไปราว 10,000 คน และทำให้เมืองอโครตีรี (Akrotiri) เมืองโบราณในอารยธรรมมิโนอัน (Minoan Culture) ถูกทำลายหายไปพร้อมกับคลื่นยักษ์

 

สึนามิที่ 'ร้ายแรง' ที่สุด

นิตยสาร Australian geographic จัดอันดับให้เหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 26 ธันวาคม 2004 บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ใกล้กับเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ อิงจากความเสียหายทางชีวิตและทรัพย์สิน

 

เหตุการณ์ในครั้งนั้น เริ่มต้นจากการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1 แมกนิจูด บริเวณนอกชายฝั่งอ่าวสุมาตรา กระตุ้นให้เกิดคลื่นยักษ์ขนาด 30-50 เมตร เข้าถล่มตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย โดยประเทศอินโดนีเซียได้รับผลกระทบมากที่สุด ความเสียหายกินพื้นที่ไปถึงประเทศใกล้เคียงอย่าง ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย และประเทศไทย ที่ในบริเวณ 6 จังหวัดของภาคใต้ตั้งแต่ จังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดกระบี่ จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นคร่าชีวิตของผู้คนจากหลายพื้นที่รวมทั้งหมด 230,000 คน และมีผู้สูญหายอีกจำนวนนับไม่ถ้วน

 

คลื่นสึนามิที่ 'สูง' ที่สุดเป็นประวัติการณ์

คลื่นสึนามิที่ความสูงเพียง 10 เมตร สามารถสังหารผู้คนไปกว่า 18,000 คน ในประเทศญี่ปุ่น แต่เชื่อหรือไม่ว่าโลกของเราเคยเกิดคลื่นสึนามิที่สูงเทียบเท่าตึก 100 ชั้นมาก่อน อ้างอิงจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ได้ระบุไว้ว่า คลื่นสึนามิที่เคยวัดได้สูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ มีความสูงถึง 1,700 ฟุต หรือเทียบเท่าตึก 175 ชั้น โดยเกิดขึ้นใน วันที่ 9 กรกฎาคม ปี ค.ศ. 1958 หรือ 60 ปีที่แล้ว บริเวณอ่าวลิทูยา (Lituya) รัฐอะแลสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

สาเหตุเกิดจากการไถลตัวของธารน้ำแข็งจากเทือกเขาสูง กระทบสู่ผิวน้ำเกิดเป็นแรงกระเพื่อมมหาศาล และจบลงด้วยคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ แต่แม้ว่าจะเป็นคลื่นสึนามิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ในเหตุการณ์ดังกล่าวมี ผู้คนเสียชีวิตไปเพียง 5 คนเท่านั้น เนื่องจากในบริเวณที่เกิดเหตุไม่ใช่แหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คน เนื่องจากปกคลุมไปด้วยหิมะและน้ำแข็ง

 

สึนามิครั้งแรกในไทย 

ประเทศไทยเกิดคลื่นสึนามิครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 ซึ่งเป็นผลพ่วงมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 9.1 แมกนิจูด ที่บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ด้วยแรงสั่นสะเทือนมหาศาลนี้เองส่งผลให้เกิดคลื่นน้ำขนาดใหญ่เข้าพัดถล่มประเทศอินโดนีเซีย และประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศใกล้เคียง ส่งผลให้ 6 จังหวัดภาคใต้ของไทย คือ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นสึนามิประมาณ 5,400 ราย บาดเจ็บกว่า 8,000 ราย และผู้สูญหายเป็นอีกจำนวนมาก 

 

ศัพท์น่าสน

ภัยพิบัติ คือ เหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อาจเกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือจากการกระทําของมนุษย์ก็ได้

มาตรวัดแผ่นไหวชนิดหนึ่ง ที่มักนำมาใช้เสมือนหน่วยแผ่นดินไหว

ริกเตอร์ คือ มาตรวัดแผ่นดินไหวแบบหนึ่ง

แมกนิจูด คือ หน่วยที่ใช้วัดขนาดหรือพลังงานที่ปล่อยออกมาจากแผ่นดินไหว

 

ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราเอาชนะไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการเรียนรู้วิธีรับมือและใช้ชีวิตอยู่บนความไม่ประมาท สามารถเป็นหนทางในการป้องกันความสูญเสียได้ไม่มากก็น้อย

 

ที่มา Statista UNDRR

แท็กที่เกี่ยวข้อง
#สึนามิ, 
#Tsunami, 
#ภัยพิบัติทางธรรมชาติ, 
#คลื่นสึนามิ, 
#แผ่นดินไหว, 
#รับมือภัยธรรมชาติ, 
#วงแหวนไฟ, 
# 
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
ALTV CI
ALTV News
ผู้เขียนบทความ
avatar
H. ARIGATO
หงส์ฟ้า
ทาสแมวผู้ Enjoy กับชีวิตเรียบง่าย มีความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
#สึนามิ, 
#Tsunami, 
#ภัยพิบัติทางธรรมชาติ, 
#คลื่นสึนามิ, 
#แผ่นดินไหว, 
#รับมือภัยธรรมชาติ, 
#วงแหวนไฟ, 
# 
แชร์
ชอบ
ติดตามเรา